การศึกษาเซลล์พันธุศาสตร์และความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
หัวหน้าโครงการ :ถาวร สุภาพรม
จากการศึกษาครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้สำรวจพบเขียด 1 ชนิด ที่เป็นการรายงานเขตการแพร่กระจายพันธุ์ในอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นครั้งแรก คือ เขียดอีโม่ (Fejervarya sp.) จำนวนโครโมโซมแบบดิพลอยด์ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกของไทย มีตั้งแต่ 2n=22 ถึง 28 คณะผู้วิจัยไม่พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกของไทยที่มีจำนวนโครโมโซมเป็นแบบ polyploidy เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานของ Kuramoto (1990) พบว่า จำนวนโครโมโซมของคางคกบ้าน (2n=22) อึ่งอ่างบ้าน (2n=28) อึ่งน้ำเต้า (2n=24) เขียดจะนา (2n=26) กบบัว (2n=26) กบหนอง (2n=26) กบอ่อง (2n=26) กบนา (2n=26) ปาดบ้าน (2n=26) มีจำนวนตรงกันและสอดคล้องกับการรายงานของ Kuramoto และมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 8 ชนิด คือ กบหลังไพล (2n=26) เขียดอีโม่หิน (2n=26) เขียดหลังปุ่ม (2n=26) อึ่งลาย (2n=26) อึ่งปากขวด (2n=26) อึ่งอ่างก้นขีด (2n=28) และอึ่งขาคำ (2n=24) ที่มีจำนวนโครโมโซมสอดคล้องและตรงกับรายงานของ Supaprom and Baimai (2002, 2004)
คาริโอไทป์ของคางคกบ้าน มีรูปร่างโครโมโซมเพียง 2 แบบ คือ แบบเมตาเซนตริก และสับเมตาเซนตริกเท่านั้น และขนาดของโครโมโซมแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขนาดใหญ่และกลุ่มขนาดเล็ก สอกคล้องกับการศึกษาคางคกในเยอรมันและญี่ปุ่น โดย U’lerich (1996) Schmid (1978a), Birstein and Mazin (1982) และ Matsui et al (1985) ตามลำดับ คางคกบ้านพบ Chromosome marker ที่มีลักษณะเป็นติ่งขนาดเล็ก (satellite) บนโครโมโซมคู่ที่ 11 สอดคล้องกับการรายงานของ Bogart (1972)
รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาเซลล์พันธุศาสตร์และความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2548