การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางชีวภาพของสมุนไพรท้องถิ่น
หัวหน้าโครงการ : ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน
การสำรวจสมุนไพรพื้นบ้านตามป่าอนุรักษ์ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี รวมถึงป่าชุมชน ได้แก่ ป่าชุมชนวัดหนองเต่า อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี พบพืชสมุนไพรทั้งหมด 70 ชนิด โดยหมอพื้นบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านการใช้พืชสมุนไพร
ตัวอย่างพืชสมุนไพร
ขี้เจียก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Argyreia thorelii Gagnep
วงศ์ Convolvulaceae
ส่วนที่ใช้-สรรพคุณ ราก-ต้มน้ำดื่มแก้ไอ
ลักษณะพืช ไม้เลื้อยล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง 1.2-2.5 ซม. ยาว 8-14 ซม. ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบป้าน ก้านใบมีขนหยาบแข็ง ดอกช่อ แบบช่อกระจุกออกที่ซอกใบ ดอกย่อย 3-7 ดอก ใบประดับย่อยรูปแถบปลายแหลม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ ปลายแหลม มีขนหยาบแข็ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดกลีบดอกยาว 4-5 ซม. แฉกกลีบดอกยาวประมาณ 2 ซม. ผลแห้งแตก ทรงกลม
เพชรพระอินทร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cirrhopetalum lepidum Schltr.
วงศ์ Orchidacceae
ส่วนที่ใช้-สรรพคุณ ลำต้น-ฝนน้ำทาแก้ฝี
ลักษณะพืช กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยรูปไข่ เป็นสัน 4-5 สัน ยาว 1.5 ซม. ใบเดี่ยว มี 1 ใบ รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวได้ถึง 13 ซม. ดอกช่อ แบบช่อซี่ร่ม ออกจากโคนลำลูกกล้วย ดอกย่อย 7-10 ดอก เรียงแผ่ระนาบเดียวกันคล้ายรูปพัด กลีบเลี้ยงด้านบนและกลีบดอก สีม่วงแดงแกมเขียว ขอบเป็นขนครุย กลีบเลี้ยงคู่ล่างยาวประมาณ 3 ซม. ขอบกลีบด้านในเชื่อมติดกัน โคนกลีบสีชมพูเข้ม ปลายกลีบสีชมพูอ่อนถึงขาว กลีบปากขนาดเล็ก สีน้ำตาลแดงแกมเหลือง ผลแห้งแตก เมล็ดจำนวนมาก
รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและทางชีวภาพของสมุนไพรท้องถิ่น รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2549