การศึกษาพันธุ์พริกพื้นเมือง (พริกปี) เพื่อการอนุรักษ์ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ: วสุ อมฤตสุทธิ์

โครงการได้สำรวจการผลิตพริกพื้นบ้าน (พริกปี หรือ พริกขาว) ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี โดยศึกษาลักษณะพื้นที่ ฤดูกาล วิธีการผลิต การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการตลาดของพริกปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัย และการเรียนการสอนต่อไป โดยผลการศึกษาการผลิตพริกปี สามารถสรุปได้ดังนี้

1. พื้นที่และฤดูกาลการผลิตพริกปี จากการศึกษาพบว่า การผลิตพริกปี (พริกขาว) ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มีการผลิตตลอดทั้งปี ผลผลิตที่มีในบางฤดูกาลไม่เพียงพอต่อการบริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี มีการรับซื้อมาจากจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง โดยส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกก่อนการปลูกพริกขี้หนูผลใหญ่ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่พริกขาดตลาด เกษตรกรไม่นิยมผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่ เนื่องจากพบปัญหาการระบาดของโรค ซึ่งพริกปี (พริกขาว) มีความทนทานมากกว่า เกษตรกรจึงนิยมปลูกในช่วงเวลาดังกล่าว

การปลูกพริกปี (พริกขาว) ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนโดยปลูกครัวเรือนละ 3-5 ต้น พื้นที่ปลูกพริกปีในเขตจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อผลิตเป็นการค้า พบในเขตอำเภอเมือง อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอวารินชำราบ เป็นส่วนใหญ่มีพื้นที่ตั้งแต่ครึ่งงานถึงหนึ่งไร่

2. การปลูกและการเก็บเกี่ยว เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพริกปีโดยทำแปลงเพาะกล้า เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 1 เดือน จึงย้ายนำมาปลูกในแปลงใหญ่ ส่วนใหญ่การปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่อาศัยแรงงานครัวเรือนซึ่งต่างจากการผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่ เนื่องจากพื้นที่การผลิตพริกปีมีขนาดเล็กกว่าจึงอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ แต่การผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่มีพื้นที่การผลิตที่มีขนาดใหญ่กว่าจึงจำเป็นต้องจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยว และปกติการปลูกพริกปีในเขตจังหวัดอุบลราชธานีส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยที่ได้จากมูลไก่ ทั้งนี้ในการปลูกพริกปีของเกษตรกรจะมีการดูแลรักษาหรือได้รับการเอาใจใส่น้อยกว่าการผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมของพริกพื้นเมืองเหล่านี้มีความทนทานมากกว่า นอกจากนี้อาจะเนื่องจากราคาผลผลิตมีราคาต่ำกว่า การดูแลรักษาจึงลดน้อยลง การเก็บเกี่ยวโดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลสด โดยเก็บผลที่อ่อนมีสีขาวและผลแก่ที่มีสีแดงปะปนกัน โดยบรรจุในถุงพลาสติกถุงละ 10 กิโลกรัม ทั้งนี้การนำไปใช้ประโยชน์พบว่าไม่นิยมตากทำพริกแห้ง

chilli4

3. การตลาด การผลิตพริกปีเพื่อจำหน่ายของเกษตรกร ส่วนใหญ่ในแต่ละหมู่บ้านจะมีพ่อค้าท้องถิ่นเข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูก ราคาอยู่ระหว่าง 15-45 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งพบว่าในช่วงที่พริกมีราคาตกยังคงมีราคาสูงกว่าพริกขี้หนูผลใหญ่ เนื่องจากถึงแม้เป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมากแต่มีปริมาณในตลาดไม่มากนัก ราคาจึงตกลงไม่มาก แต่ในช่วงที่พริกราคาสูง ราคาพริกปีจะไม่สูงเท่าพริกขี้หนูผลใหญ่ โดยมีราคาจะต่ำกว่าเนื่องจากการใช้ประโยชน์พริกอยู่ในวงจำกัดกว่า ไม่หลากหลายเท่าการใช้พริกขี้หนูผลใหญ่

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาพันธุ์พริกพื้นเมือง (พริกปี) เพื่อการอนุรักษ์ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2550