การจัดทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสืบสานตำนานประเพณีดั้งเดิม
หัวหน้าโครงการ : มะลิวัลย์ สินน้อย
คุณพ่อสุวิชช คูณผล ได้เล่าถึงตำนานเทียน ต้นแบบประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ไว้ว่า
สมัยแรก (ประมาณ พ.ศ.2335-2443) เทียนเวียนหัว มัดรวมติดลาย ชาวบ้านนำเทียนที่ฝั้นเองนำมามัดรวมกับแกนกลางแล้วติดลายให้สวยงาม นำมาถวายพระสงฆ์ในการทำบุญเข้าพรรษา คือ บุญเดือนแปด
สมัยที่ 2 (พ.ศ.2444-2479) หลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ
เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานประทับที่เมืองอุบลราชธานีทรงเห็นการแห่บุญบั้งไฟที่วัดหลวงริมแม่น้ำมูล เกิดเหตุบั้งไฟตกลงมาถูกชาวบ้านตาย อีกทั้งชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างกินเหล้าเมามาย เกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อย ตีรันฟันแทงกันถึงแก่ล้มตาย จนมีคำกล่าวเป็นผญาภาษาอีสานว่า “ปีได๋บ่มีตีรันฟันแทงกัน มันเสียดายแป้งข้าวหม่า” มีความหมายว่า หากปีใดที่ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน จะรู้สึกเสียดายแป้งที่ใช้หมักสุรา เสด็จในกรมทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ดี อีกทั้งประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่นับถือเทพเจ้า (แถน) ตามธรรมเนียมของศาสนาฮินดู พระองค์จึงทรงสั่งให้งดเว้นการจัดงานบุญบั้งไฟอีกต่อไปและให้ใช้ประเพณีถวายเทียนพรรษาเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมของชาวพุทธโดยแท้จริง เมืองอุบลราชธานีจึงมีประเพณีแห่เทียนพรรษานับแต่นั้นสืบมา
ในสมัยนี้มีการหล่อเทียนต้นใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าการมัดเทียนขนาดเล็กรวมเข้าด้วยกันเป็นงานที่ทำได้ง่าน ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นการถวานเทียนต่างคนต่างทำ จึงทรงเป็นผู้ริเริ่มให้ชาวเมืองอุบลราชธานีรวมกันหล่อเทียนต้นใหญ่ มอบให้ชาวบ้านทำเป็นกลุ่มใหญ่หรือทำเป็นคุ้มวัด มีกรมการเมืองคอยดูแลแต่ละคุ้มวัดการจัดทำเป็นต้นเทียน ถือเป็นงานใหญ่ใช้แรงคนมาก ใช้เวลามาก และสิ้นเปลืองทุนทรัพย์ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการทำบุญอยู่แล้ว จึงมีกุศโลบาย “หลอมเทียน หลอมใจ หลอมบุญ” ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นลดช่องว่างระหว่างฐานะ ไม่ว่าจะยากดีมีจนนำขี้ผึ้งเล็กใหญ่มาหลอมละลายในกระทะทองเหลือง อันเดียวกันได้ต้นเทียนต้นเดียวกัน มีส่วนเป็นเจ้าของด้วยกัน ได้บุญได้กุศลเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความรักสมัครสมานสามัคคีถือว่าเป็นการทำบุญร่วมกัน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เมื่อร่วมแรงร่วมใจกันทำต้นเทียนเสร็จแล้วให้นำต้นเทียนทุกต้นมารวมกันที่วังของพระองค์ (วังสงัด) กลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดคืน รุ่งเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ทรงให้มีการตักบาตรเลี้ยงพระร่วมกัน เสร็จแล้วก็โปรดฯ ให้ชาวเมืองที่มีเกวียนได้ประดับตกแต่งโค เกวียน ม้า นพมาเข้าขบวนแห่ โดยไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑลในเวลาเที่ยงวันทรงประทานรางวัลแก่ผู้ทำต้นเทียนสวยงาม เมื่อพร้อมกันแล้ว ก็ทรงให้จับสลาก หากต้นเทียนของคณะใดจับสลากถูกวัดไหนต้นเทียนของคณะนั้นก็จะแห่ไปถวายวัดนั้น ๆ จะเห็นได้ว่าเทียนพรรษาอุบลราชธานี มีการเปลี่ยนทางจากวัฒนธรรมดั้งเดิม (ไท-ลาว) สู่วัฒนธรรมหลวงในช่วงนี้เอง
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นประเพณีหลวงอันเป็นพิธีพุทธศาสนา จึงวิวัฒนาการมาสู่ “งานประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี” ตราบเท่าทุกวันนี้ โดยมีเป้าหมายเชิดชูพระพุทธศาสนา ยึดมั่น “พุทธธรรม” เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ให้อยู่ดี มีสุข สงบ ร่มเย็น และพอเพียงเป็นแก่นแท้ คุณงามความดีตลอดไป
รายละเอียดเพิ่มเติม : การจัดทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสืบสานตำนานประเพณีดั้งเดิม รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2551