การศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นจากกลอนลำซิ่ง
หัวหน้าโครงการ : กนกวรรณ มะโนรมณ์
รายงานได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ก่อนจะเป็นลำซิ่ง กลอนลำแบบต่าง ๆ วัฒนธรรมที่สื่อจากกลอนลำซิ่ง ประวัติของหมอลำ เช่น หมอลำทองมาก จันทะลือ หมอลำเคน ดาเหลา นางฉวีวรรณ พันธุ และตัวอย่างกลอนลำ และได้สรุปวิวัฒนาการของหมอลำตามลำดับไว้ดังนี้
ลำโบราณ เป็นการเล่านิทานของผู้เฒ่าผู้แก่ให้ลูกหลานฟัง ไม่มีท่าทาง และดนตรีประกอบ
ลำคู่หรือลำกลอน เป็นการลำที่มีหมอลำชายหญิงสองคนลำสลับกัน มีเครื่องดนตรีประกอบ คือ แคน การลำมีทั้งลำเรื่องนิทานโบราณคดีอีสาน เรียกว่า ลำเรื่องต่อกลอน ลำทวย (ทายโจทย์) ปัญหา ซึ่งผู้ที่จะต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดี สามารถโต้ตอบยกเหตุผลมาหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ ต่อมามีการเพิ่มผู้ลำขึ้นอีกหนึ่งคน อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ การลำจะเปลี่ยนเป็นเรื่อง ชิงรักหักสวาท ยาดชู้ยาดผัว เรียกว่า ลำชิงชู้
ลำหมู่ เป็นการลำที่มีผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น จนเกือบจะครบตามจำนวนตัวละครที่มีในเรื่อง มีเครื่องดนตรีประกอบเพิ่มขึ้น เช่น พิณ (ซุง หรือ ซึง) กลอง การลำจะมี 2 แนวทาง คือ ลำเวียง จะเป็นการลำแบบลำกลอน หมอลำแสดง เป็นตัวละครตามบทบาทในเรื่อง การดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า แต่ก็ได้อรรถรสของละครพื้นบ้าน หมอลำได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองในการลำ ทั้งทางด้านเสียงร้อง ปฏิภาณไหวพริบ และความจำเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงอายุ ต่อมาเมื่อดนตรีลูกทุ่งมีอิทธิพลมากขึ้นจึงเกิดวิวัฒนาการของลำหมู่อีกครั้งหนึ่ง กลายเป็น ลำเพลิน ซึ่งจะมีจังหวะที่เร้าใจชวนให้สนุกสนาน ก่อนการลำเรื่องในช่วงหัวค่ำจะมีการเอารูปแบบของวงดนตรีลูกทุ่งมาใช้เรียกคนดู กล่าวคือ จะมีนักร้อง (หมอลำ) มาร้องเพลงลูกทุ่งที่กำลังฮิตในขณะนั้น มีหางเครื่องเต้นประกอบ นำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน ทรัมเปต และกลองชุด โดยนำมาผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีเดิม ได้แก่ พิณ แคน ทำให้รสชาติของดนตรีที่แปลกออกไป ยุคนี้นับว่า หมอลำเฟื่องฟูมากที่สุด คณะหมอลำดัง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี
ลำซิ่ง หลังจากที่หมอลำคู่และหมอลำเพลินค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไป อันเนื่องมาจากการก้าวเข้มาของเทคโนโลยีวิทยุโทรทัศน์ ทำให้ดนตรีสตริงเข้ามาแทรกในวิถีชีวิตของผู้คนอีสาน ความนิยมของการชมหมอลำค่อนข้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดความวิตกกังวลกันมากในกลุ่มนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน แต่แล้วมนต์ขลังของหมอลำก็ได้กลับมาอีกครั้งด้วยรูปแบบที่สะเทือนวงการด้วยการแสดงที่เรียกว่า ลำซิ่ง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของลำคู่ (เพราะใช้หมอลำ 2-3 คน) ใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมให้จังหวะเหมือนลำเพลิน มีหางเครื่องเหมือนดนตรีลูกทุ่ง กลอนลำสนุกสนานมีจังหวะอันเร้าใจ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งระบาดไปสู่การแสดงพื้นบ้านอื่นให้ต้องประยุกต์ปรับตัว เช่น เพลงโคราชกลายมาเป็นเพลงโคราชซิ่ง กันตรึมก็กลายเป็นกันตรึมร็อค หนังปราโมทัย (หนังตะลุงอีสาน) กลายเป็น ปราโมทัยซิ่ง ถึงกับมีการจัดประกวดแข่งขัน บันทึกเทปโทรทัศน์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย จนถึงกับ มีบางท่านถึงกับกล่าวว่า “หมอลำไม่มีวันตายจากลมหายใจชาวอีสาน”
กลอนลำที่พบได้มีอยู่ 2 ประเภท คือ
กลอนสั้น คือ คำกลอนที่สั้น ๆ ใช้สำหรับลำเวลามีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น งานทำบุญบ้าน หรืองานประจำปี เช่น งานบุญเดือนหก กลอนสั้น เช่น กลอนขึ้นลำ กลอนลงลำ กลอนลำเหมิดคืน กลอนโต้น กลอนติ่ง กลอนต่ง กลอนอัศจรรย์ กลอนสอย กลอนหนังสือเจียง กลอนเต้ยหรือผญา ลำสีพันดอน ลำสั้น เรื่อง ติดเสน่ห์
กลอนยาว คือ กลอนสำหรับใช้ลำในงานการกุศล งานมหรสพต่าง ๆ กลอนยาวนี้ใช้เวลาลำเป็นชั่วโมงบ้าง ครึ่งชั่วโมงบ้าง หรือแล้วแต่กรณี ถ้าลำคนเดียว เช่น ลำพื้น หรือ ลำเรื่อง ต้องใช้เวลาลำเป็นวัน ๆ คืน ๆ ทั้งนี้แล้วแต่เรื่องที่จะลำสั้นหรือยาวแค่ไหน แบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น กลอนประวัติศาสตร์ กลอนลำพื้นหรือลำเรื่อง กลอนเซิ้ง กลอนส้อง กลอนเพอะ กลอนล่องของ กลอนเว้าสาว กลอนฟ้อนแบบต่าง ๆ
กลอนลำซิ่งนั้น เป็นหมอลำประยุกต์ เป็นการลำกลอนแนวใหม่ซึ่งมีรูปแบบการแสดงที่ประกอบด้วย การลำ การร้อง การฟ้อน และการเต้น คำว่า ซิ่ง น่าจะมาจากภาษาอังกฤษว่า racing ซึ่งแปลว่า การแข่งขัน ลำซิ่งจึงเป็นการลำที่ใช้ลีลาจังหวะในการลำการเต้นที่รวดเร็ว ใช้ทำนองลำเดิน (ลำย่าว) ซึ่งเป็นทำนองทางสั้นวาดวาดขอนแก่นเป็นทำนองหลัก แต่ใช้สำเนียงแบบลำทางยาว ลำซิ่งเป็นทำนองในการลำที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเดิมทีเดียวเกิดขึ้นในลำเพลินก่อน เนื่องจากมีการนำดนตรีสากลพวกกลองชุดเข้ามาบรรเลงประกอบการแสดง พร้อมทั้งในทำนองลำเพลิน ลำเดิน ลำเต้ย และเพลงลูกทุ่งประกอบ ผู้แสดงประกอบด้วยหมอลำฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอย่างละ 1 คน เหมือนหมอลำกลอนแต่ลำซิ่งจะมีหางเครื่องเต้นประกอบซึ่งมีทั้งชายและหญิง คณะละ 2 คน การแต่งกายหมอลำฝ่ายชายจะแต่งกายชุดสากล ส่วนหมอลำฝ่ายหญิงจะสวมกระโปรงบานเพื่อให้ความสะดวกในการเต้นกลอนที่ใช้ลำเหมือนกลอนลำของกลอนลำให้ทั้งสาระทางคดีโลกและคดีธรรม ดนตรีที่ใช้ประกอบ นอกจากแคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักแล้ว ยังมีดนตรีสากล เช่น กลองชุด กลองทอม เบส กีตาร์ เข้ามาร่วมบรรเลงประกอบการแสดงด้วย ลำซิ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีท่วงทำนองคึกคักสนุกสนานและให้สาระอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นจากกลอนลำซิ่ง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2541