การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : วิโรจน์ เกษรบัว

พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) เป็นคำที่ Dr.John W. Harshberger นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกันได้กำหนดใช้ในปี ค.ศ.1895 เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากพืชของกลุ่มชนพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ หรือได้รับการถ่ายทอดจากเพื่อนบ้านในกลุ่มของตนจนเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นนั่น โดยศึกษาถึงชนิดพืชที่ถูกต้อง ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพื้นเมือง ถิ่นกำเนิด ประโยชน์หรือโทษของพืช ฯลฯ ตลอดจนศึกษาถึงวิธีการนำพืชไปใช้จนกลายเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นบ้าน ชนบางกลุ่มได้อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่ป่าของหมู่บ้านเอาไว้สืบต่อกันมาด้วยความเชื่อถือเกี่ยวกับโชคลาง หรือสงวนไม้เพื่อใช้สอย เช่น ป่าปู่ตาทางภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นป่าชุมชนประเภทหนึ่งที่มีการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ป่าไม้แบบยั่งยืน

การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานียังคงจำกัด การวิจัยทางด้านนี้ยังไม่เป็นระบบ ถึงแม้พื้นที่นี้จะมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์สูง ซึ่งอาจจะแบ่งออกได้อย่างกว้าง ๆ ตามลักษณะทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกเป็นชนสายตระกูลไทย-ลาว เป็นประชากรส่วนใหญ่ของภูมิภาคกระจายกันอาศัยครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอ และยังคงลักษณะทางวัฒนธรรมของตนไว้ค่อนข้างสูง ทั้งในด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีสำคัญต่าง ๆ แม้ในปัจจุบันความเจริญจากภาคกลางจะแพร่ขยายเข้ามายังพื้นที่ทำให้ขนบธรรมเนียมบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เช่น การแต่งกาย และชีวิตความเป็นอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ได้  โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ การละเล่นและดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น กลุ่มชนในสายตระกูลนี้ได้แก่ คนไทยพื้นบ้านอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่โดยทั่วไปในเขตจังหวัด และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ไทหรือภูไท นอกจากนี่ยังมีบางส่วนที่เป็นชาวกุลาหรือไทยใหญ่ ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชนสายตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่นทางใต้ของจังหวัด บริเวณเขตอำเภอเดชอุดม น้ำยืน นาจะหลวย และบุณฑริก มีบางส่วนที่อาศัยปะปนอยู่กับกลุ่มคนไทยพื้นบ้านในเขตอำเภอวารินชำราบ พิบูลมังสาหารและเขื่องใน กลุ่มชนสำคัญในสายตระกูลนี้ได้แก่ เขมรและส่วย

namyuan

จากการศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พบพืชที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งหมด 93 ชนิด 88 สกุล 45 วงศ์

ตัวอย่างพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ichonocarpus frutescens (L.) W.T. Aiton

ชื่อพื้นเมือง : เครือปลาสงแดง

ชื่ออื่น : เครือเจ็น เครือซูด เครือชุดแดง ชัยสง เครืออีม้อ เตาไห้ เถาโถ เถายอดแดง เถาวัลย์แดง หัวขวาน ปอต่อไห้ หุนน้ำ

ไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาวถึง 10 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงแบบตรงข้าม แผ่นใบรูปรีแกมไข่ กว้าง 0.7-7 ซม. ยาว 2.3-12.5 ซม. โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม ดอกเล็กสีขาวหรือสีเหลืองนวล ออกเป็นช่อแยกแขนง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยปลายแยก 5 กลีบ เรียงบิดเวียน ขอบเป็นฝอยละเอียด มีกลิ่นหอมเย็น ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก กว้าง 1.6-5 มม. ยาว 3-10.5 ซม. ออกเป็นคู่ ผลแก่แตกตะเข็บเดียว เมล็ดสีน้ำตาล

การใช้ประโยชน์ : ใช้รากเครือปลาสงแดง รากมะเฟืองเปรี้ยว รากตะโก และตีนนก มาต้มน้ำดื่มรักษาอาการปวดเมื่อย

local-plant4

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alocasia cucullata (Lour.) G.Don

ชื่อพื้นเมือง : ว่านนกคุ้ม

ชื่ออื่น : ว่านทรหด ว่านนางกวัก

ไม้ล้มลุก สูง 30-60 ซม. ลำต้นใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนเป็นกระจุกแน่น แผ่นใบรูปคล้ายโล่หรือรูปหัวใจแกมรูปไข่ กว้าง 10-17.5 ซม. ยาว 15-30 ซม. เส้นใบมี 6-7 คู่ ก้านใบยาว 30-90 ซม. ดอกช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ซอกใบ กาบใบฉ่ำน้ำสีเขียวแกมสีน้ำเงิน ยาว 15-30 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 5-10 ซม. ขอบกาบใบม้วนงอ

การใช้ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับ กันไฟไหม้ ทุกส่วนของต้นระคายเคืองต่อผิวหนัง

รายละเอียดเพิ่มเติม : การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2552