การสำรวจหลักฐานผ้าและเครื่องแต่งกายโบราณของชาวอีสานจากฮูปแต้มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา
หัวหน้าโครงการ: สิทธิชัย สมานชาติ
โครงการสำรวจหลักฐานผ้าและเครื่องแต่งกายโบราณของชาวอีสานจากฮูปแต้มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ได้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมการแต่งกายของอีสานโบราณ 2) รวบรวมหลักฐานลวดลายผ้าซิ่นอีสานที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสานเพื่อเก็บหลักฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและการวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 3) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการอนุรักษ์ฮูปแต้มอีสานในอนาคต
ในการดำเนินการได้ใช้หลักการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ การศึกษาวิจัยทางศิลปะและหลักการข้อมูลเชิงมานุษยวิทยา โดยสามารถสำรวจรวบรวมข้อมูลฮูปแต้มครบทั้ง 4 วัด คือ 1) สระบัวแก้ว บ้านวังคูณ อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น 2) วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 3) วัดหน้าพระธาตุ บ้านตะคุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 4)วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ผนังทั้ง 4 ด้านในหอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
ฮูปแต้ม วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สีของฮูปแต้ม
สีที่เด่นคือ สีคราม น้ำตาลแดง แดง
สีเขียว เป็นสีที่ใช้เป็นส่วนประกอบสอดแซม การตัดเส้นใช้สีดำ แดง
เทคนิคการเขียนฮูปแต้ม
ภาพเด่นขององค์กระกอบรวมเป็นภาพถวายพระเพลิง ตรงส่วนนี้เองที่ช่างแต้มสร้างองค์ประกอบแบบสมดุล (Symmetry) ภาพประสาทเป็นสีน้ำตาล กำแพงสีขาว ภาพของเหล่าพระสงฆ์มีจีวรสีแดง เบื้องหลังยอดปราสาทประดับด้วยสีเทา ฉากหลังปราสาทเป็นสีคราม สีครามกับสีน้ำตาลแดงเกือบเป็นสีคู่ตรงกันข้าม สีทั้งคู่เป็นสีที่มีพลังและสดใส
การใช้สีที่แสดงความกล้าหาญของช่างแต้มเช่นนี้หลังจากภาพแต้มเสร็จสมบูรณ์ใหม่ ๆ ในช่วงแรก บรรยากาศภายในพระอุโบสถคงจะสว่างสดใส ผู้ใดได้ย่างเท้าก้าวเข้าสู่พระอุโบสถหลังนี้ ดูราวกับว่าได้ก้าวเข้าสู่โลกทิพย์ที่ทรงคุณค่าแห่งความงามที่ปรากฏให้เห็นทางรูปธรรม และสามารถโน้มนำจิตใจให้เกิดคุณธรรมซึ่งเป็นผลทางนามธรรม ภาพด้านขวามือผนังหน้านี้ โดดเด่นในรายละเอียด เป็นภาพที่สะท้อนถึงสภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยในรั้วในวัง ตลอดจนผู้คนที่มีบ้านเรือนอู่ตามริมลำน้ำ ภาพอาคารสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนในรัชสมัยที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โครงสีของภาพโดยส่วนรวมที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตของผู้คนในสังคมชาวบ้านจะใช้สีน้ำตาลเป็นสีหลัก ผสมผสานกับสีคราม แม้ในส่วนที่เป็นใบไม้ก็ยังใช้สีครามตัดเส้นดำ
รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจหลักฐานผ้าและเครื่องแต่งกายโบราณของชาวอีสานจากฮูปแต้มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553