ศึกษารวบรวมศิลปะปูนปั้นอีสานตอนล่าง

หัวหน้าโครงการ :ประสิทธิ์ พวงบุตร

ขั้นตอนการสรรค์สร้างศิลปะปูนปั้น

1.การขึ้นโครงแบบ หากเป็นงานลอยตัว ช่างปั้นจะต้องขึ้นโครงแบบก่อนการปั้น ภาพติดผนัง ช่างปั้นจะต้องออกแบบเขียนลายลงในกระดาษเพื่อดูรูปแบบเค้าโครง

2.การโกลนปูน การปั้นปูนด้วยปูนดำหรือปูนเพชรนั้น ช่างจะต้องออกแบบเขียนลายลงในกระดาษเพื่อดูรูปแบบเค้าโครงชั้นหนึ่งก่อน เมื่อช่างปั้นร่างแบบแล้ว จะเขียนลายไว้หยาบ ๆ หรือบางครั้งจะเขียนลายไปพร้อมกับปั้นปูนไปด้วย เมื่อร่างลายแล้ว ช่างจะนำปูนซีเมนต์ปั้นพอก (ถือปูน) ไปตามรูปแบบที่ร่างไว้ ซึ่งเรียกว่า “โกลน” การโกลนด้วยปูนซีเมนต์เพื่อใช้ซีเมนต์เป็นตัวยึด จะเกิดความคงทนไม่หลุดง่าย ช่างจะโกลนไปทีละช่วงของลาย จนกระทั่งปูนที่โกลนไว้แข็งตัวจับแน่นดีก็จะนำปูนตำหรือปูนเพชรขึ้นไปพอกอีกชั้นหนึ่ง

3.การปั้น หลังจากผ่านขั้นตอนการโกลนปูนเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการปั้น ช่างปั้นจะปั้นตามแบบที่ลูกค้าสั่ง หรือตามที่รับงานมา ช่างปูนปั้นจะใช้เกียงปั้นปูนตามรูปแบบลักษณะของลายที่ร่างไว้

hor-pra-bat

ศิลปะปูนปั้น ณ วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

4.การตกแต่งลวดลาย การตกแต่งลวดลายเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อได้รูปแบบที่ได้สัดส่วนสวยงามแล้ว ช่างปูนปั้นจะตกแต่งด้วยการเขียนลายน้ำทอง ประดับกระจก หรือลงสีตามที่รับงานมา สำหรับการประดับกระจกมักเป็นงานปูนปั้นโบราณ มีราคาถูก แต่ไม่ค่อยคงทน กระจกมักหลุดร่วงง่าย การลงสีจะมีความสวยงามอีกแบบหนึ่ง แต่โดยปกติงานปูนปั้นจะเน้นที่ชิ้นงานต้องแสดงให้เห็นศิลปะการปั้นปูนร้อยเปอร์เซ็นต์ความงามของปูนปั้นอยู่ที่แสงและเงาของชิ้นงานเวลาที่มอง เนื่องจากการปั้นจะต้องแสดงมิติ เป็นความงามที่ไม่ต้องอาศัยการตกแต่งด้วยวัสดุอื่น ไม่มีการเขียนลาย ลงสี หรือประดับกระจก แต่ช่างปูนปั้นก็เป็นช่างที่มีฝีมือ และมีความสามารถจะเขียนลายน้ำทองลงบนงานปั้นได้ ลงรักปิดทอง และประดับกระจกได้แล้วแต่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด สำหรับในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องเบญจรงค์มาประดับทำให้เกิดความสวยงาม แต่การประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์นี้จะมีราคาค่อนข้างแพง และการประดับสิ่งต่าง ๆ ลงบนงานปั้นก็จะบดบังศิลปะของปูนปั้นลงไป หากการเขียนด้วยลายน้ำทอง หรือลายไทย ช่างปูนปั้นก็มักใช้สีเบญจรงค์ในการเขียนลาย ได้แก่ เขียว น้ำเงิน น้ำตาล ฟ้า

hor-pra-bat3

ศิลปะปูนปั้น ณ วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

รายละเอียดเพิ่มเติม : ศึกษารวบรวมศิลปะปูนปั้นอีสานตอนล่าง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553