การสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อพัฒนาเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดใหม่

หัวหน้าโครงการ : สุทิน พรหมโชติ

จากการออกสำรวจไม้ผลพื้นเมืองบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนมีนาคม 2553-มีนาคม 2554 พบไม้ผลพื้นเมืองหลากหลายชนิดกระจายพันธุ์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่จะพบตามหมู่บ้าน และรอบ ๆ บ้านตามที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป ป่าชุมชนของหมู่บ้าน หรือวัดประจำหมู่บ้าน ประกอบด้วยวงศ์ต่างๆ จำนวน 14 วงศ์ และชนิดไม้ผลพื้นเมือง จำนวน 20 ชนิด

ตัวอย่างไม้ผลพื้นเมือง

fruit3

ผีผ่วน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Uvaria rufa Blume.

ชื่อสามัญ  หมากผีผ่วน, บุหงาใหญ่ (เหนือ), นมควาย (ใต้), นมแมวป่า (เชียงใหม่), หำลิง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ติงตัง (นครราชสีมา), ตีนตั่งเครือ (ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี), พีพวน (อุดรธานี), สีม่วน (ชัยภูมิ), นมแมว (ภาคกลาง)

ลักษณะทั่วไป ผีผ่วนเป็นไม้พุ่มเลื้อยมีความสูง 5 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี หรือ รูปไข่ผิวใบมีขนสีน้ำตาลแดงทั้งสองด้าน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 4.5-10 ซม. ดอกจะออกเป็นกระจุก 2-3 ดอกที่กิ่งก้าน กลีบดอกสีแดงเข้ม กลิ่นหอม ผล เป็นผลกลุ่มรูปไข่หรือรูปไข่กลับ เมื่อสุกมีสีแดงสม เปลือกบาง เนื้อเป็นสีขาว เมล็ดดำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ติดผมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเก็บเกี่ยวได้ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน

การใช้ประโยชน์

แก่น และราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ซ้ำ ไข้กลับ เนื่องจากกินของแสลง

ราก แก้ผอมแห้งแรงน้อย สำหรับสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้หลังคลอดบุตรและช่วยบำรุงน้ำนม

ผล ตำผสมกับน้ำ ทาแก้เม็ดผดผื่นคัน หรือ รับประทานสดรสเปรี้ยวอมหวานและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

fruit2

คายค่าว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria fauveliana (Finet & Gagnep.) Pierre ex Ast.

ชื่อสามัญ เงาะพวงผลกลม, คายค่าว, เงาะป่า

ลักษณะทั่วไป

ลำต้นเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดต้นไม้อื่นไปได้ไกล 10-20 เมตร กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น เปลือกลำต้นสีดำแตกเป็นร่อง ใบ รูปของขนาน กว้าว 4-7 ซม. ยาว 12-18 ซม. โคนใบกลมหยัก เว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม ใบอ่อนมีขนหยาบและแข็งสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โดยเฉพาะที่ขอบใบและเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบมี 12-15 คู่ ก้านใบยาว 5 มม. ดอกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นกระจุก 2 ดอก ออกตรงข้ามใบ ดอกมีสีชมพูอมแดง ก้านดอกยาว 5 มม. มีใบประดับ 2 ใบ รูปร่างค่อนข้างกลม ขนาด 8 มม. กลีบเลี้ยงสีเขียว กว้างและยาว 1 ซม. มีขนด้านนอกหนาแน่น กลีบดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน เรียงเป็น 2 ชั้น รูปขอบขนาน กว้าง 1.2 ซม. ยาว 1.5 ซม. เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 ซม.

ผล จัดเป็นผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาวประมาณ 1 ซม. มีผลย่อย 10-30 ผล ก้านผลยาว 2-3 ซม. ผลกลม ขนาด 2.5 ซม. ผิวผลมีขนยาว 0.5-1 ซม. แข็งคล้ายเงาะ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองส้ม บางพันธุ์มีสีเหลือง แต่ละผลจะประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 4-8 เมล็ด ออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวได้ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

การใช้ประโยชน์

ผล รับประทานได้ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน และมีกลิ่นเฉพาะตัว

เปลือกต้น ต้มดื่ม แก้กระษัยเส้น (เป็นอาการของการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็นในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและท้อง) แก้ปวดเมื่อย แก่นหรือเปลือกต้นแช่น้ำดื่ม บำรุงโลหิต

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อพัฒนาเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดใหม่ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553