การสำรวจการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

หัวหน้าโครงการ : สุรีพร เกตุงาม

ข้าวพื้นเมืองเป็นข้าวที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง บางพันธุ์ยังคงได้รับการยอมรับจากเกษตรกร และบางพันธุ์หายไปจากท้องถิ่น จากการสำรวจการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในครั้งนี้ พบข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีปลูกประมาณ 31 พันธุ์ จาก 4 ตำบลในพื้นที่ 4 อำเภอ โดยพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่ มีลักษณะพิเศษบางประการที่แตกต่างจากข้าวพันธุ์ปรับปรุง ได้แก่ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าข้าวพันธุ์ปรับปรุง ปลูกง่าย สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นได้ดี สามารถปลูกได้หลายฤดู และมีคุณภาพการหุงต้ม ความหอมที่เหมาะสมต่อการนำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ข้าวเม่า กระยาสารท ขนมจีน และข้าวกล้องงอกสามรส เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากข้าวพื้นเมือง

ข้าวเม่า แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอตระการพืชผล กระบวนการผลิตข้าวเม่าส่วนใหญ่จะผลิตจากข้าวเหนียวที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าข้าวพันธุ์ กข 6 โดยสามารถทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป และข้าวเม่าจะผลิตออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี แม้ว่าคุณภาพข้าวเม่าที่ได้จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะมีความหอมน้อยกว่าข้าว กข 6 แต่ก็สามารถผลิตและจำหน่ายข้าวเม่าได้ในราคาดีเท่ากับข้าวเม่าจากข้าวพันธุ์ กข 6 เนื่องจากสามารถผลิตข้าวเม่าออกจาหน่ายได้ก่อน และราคาที่ได้จากการแปรรูปเป็นข้าวเม่าสูงกว่าราคาจำหน่ายข้าวเปลือกถึง 5 เท่า โดยข้าวเม่าที่ได้จะจำหน่ายราคากิโลกรัมละ 50-100 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาจาหน่ายข้าวเปลือกที่รับซื้อจากพ่อค้าตามท้องตลาดเพียงราคากิโลกรัมละ 10- 17 บาท จึงเป็นเหตุจูงใจให้เกษตรกรยังคงอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองไว้เพื่อการแปรรูป และเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในปีถัดไป

kao-mao kao-mao2

ข้าวกล้องงอกอินทรีย์สามรส เป็นผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายการปลูกข้าวพื้นเมืองอินทรีย์อำเภอสว่างวีระวงศ์ ในกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะผลิตจากข้าวเจ้าพื้นเมือง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้ามะลิแดง ข้าวเจ้ามะลิดา และข้าวขาวมะลิ โดยข้าวพื้นเมืองที่ปลูกส่วนใหญ่จะปลูกแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ในการผลิตจะใช้ข้าวเปลือกมาแช่น้ำประมาณสองคืนเพื่อให้เมล็ดข้าวงอกราก จากนั้นนำข้าวที่งอกมานึ่งให้สุกแล้วนาไปผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปโม่ด้วยเครื่องโม่ข้าว ก็จะได้ข้าวกล้องงอก จากนั้นนำไปข้าวกล้องงอกที่ได้จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองสามพันธุ์มารวมกัน เพื่อบรรจุถุงจำหน่ายเป็นข้าวกล้องงอกอินทรีย์สามรส บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ๆ ละ 60 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าข้าวกล้องทั่วไปถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ยังจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากพื้นที่อื่นในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าการจำหน่ายข้าวเปลือกตามท้องตลาดถึง 2-3 เท่า

ขนมจีน ผลิตจากข้าวเจ้าแดงพื้นเมือง ซึ่งเป็นข้าวแข็งหรือข้าวที่มีปริมาณอะไมโลสสูงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการแช่และหมักข้าว แล้วนำมาบดพร้อมน้ำเพื่อให้ได้น้ำแป้ง จากนั้นนำน้ำแป้งที่ได้ไปกรองแป้ง ผสมแป้งและน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อผลิตเป็นเส้นขนมจีน

kanomjeeen

ข้าวตอกและกระยาสารท ผลิตจากข้าวเหนียวพื้นเมืองพันธุ์หอมทุ่ง และเป็นพันธุ์ที่นิยมนำมาผลิตข้าวตอกที่มีคุณภาพการหุงต้มดี โดยเมื่อนำมาคั่วแล้วจะได้ข้าวตอกขนาดใหญ่ และเป็นพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าที่มาจากจังหวัดปราจีนบุรี ที่มารับซื้อผลผลิตทุกปีจากแหล่งปลูกของเกษตรกรที่อำเภอเขื่องใน

การใช้ประโยชน์จากข้าวนอกจากการปลูกเพื่อบริโภคแล้ว ยังสามารถจาหน่ายเป็นสินค้าในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารได้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อให้เป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าอีกเป็น จำนวนมาก และผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้นส่วนหนึ่งมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือจากที่มีอยู่ในตลาดท้องถิ่น

ภูมิปัญญาในการนำข้าวพื้นเมืองมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรยังคงอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้คงอยู่ ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวพื้นเมือง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองให้คงอยู่สืบไป

kaotok

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553