การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน (ปีที่ 2) : การอนุรักษ์ฮูปแต้ม กรณีวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

หัวหน้าโครงการ : ธาดา สุทธิธรรม

โครงการอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน ปีที่ 2 เป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากปีแรก หลังจากการซ่อมหลังคาและบันทึกฮูปแต้มแหล่งใหม่ในภาคอีสานที่สิมวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น แล้วเสร็จใน พ.ศ.2553 โดยใน พ.ศ.2554 เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูฮูปแต้ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน และ 2) เพื่อการเรียนรู้ ฟื้นฟูภูมิปัญญาและสืบทอดวิธีการเขียนฮูปแต้ม การดำเนินการใช้หลักและวิธีการอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม โดยผ่านการบรรยายและฝึกปฏิบัติการภาคสนามให้พระสงฆ์ สามเณร นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ข้าราชการ และประชาชนทั้งในและนอกชุมชน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งประกอบด้วยสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม และจิตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธจิตรกรรมอีสาน ซึ่งการดำเนินโครงการได้ทำความสะอาดผนังที่มีฮูปแต้มเพื่อการอนุรักษ์ทั้ง 4 ด้าน ภายในสิมเก่าวัดโนนศิลา ทำการฟื้นฟูฮูปแต้มบนผนังด้านหลังพระประธานและทำการปฏิสังขรณ์พระประธานภายในสิม

painting1

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการคือ สิมและฮูปแต้มในแหล่งที่พบใหม่ได้รับการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการสากล สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวของภาคอีสานได้ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่มีการฟื้นฟู ปลูกฝังและสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่เยาวชนรุ่นใหม่ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ฮูปแต้มภายในสิมวัดโนนศิลานี้ เป็นเรื่องราวตามมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาดกที่ชาวอีสานให้ความสำคัญที่สุด ครบทั้ง 13 กัณฑ์ และวาดไว้ในลักษณะผ้าผะเหวด จึงแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งด้วยฝีมือ การวาดลวดลายและการให้สีสัน นอกจากนี้ยังมีภาพวาดของสตรีในชุดพื้นเมืองอีสานที่นำดอกไม้มาถวายพระประธานเพื่อเป็นพุทธบูชาที่มีความงดงามน่าชม และน่าชื่นใจแก่ผู้ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

painting2

painting3

รายละเอียดเพิ่มเติม : การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน (ปีที่ 2) : การอนุรักษ์ฮูปแต้ม กรณีวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554