ฐานข้อมูลผ้าทอพื้นเมืองอีสานใต้

หัวหน้าโครงการ: ประทับใจ สิกขา

ผ้าซิ่นตีนแดง จังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของจังหวัดที่มีการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีการพัฒนาลายผ้าใหม่อยู่เสมอ ก็ยังคงรักษารูปแบบของผ้าซิ่นตีนแดงที่มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณ คำว่า ซิ่นหัวแดงตีนแดง หรือ ซิ่นตีนแดง หรือ ซิ่นหมี่รวด มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ผลิตขึ้นครั้งแรกโดยช่างมือที่ทอผ้าในคุ้มพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพุทไธสง เมื่อประมาณ 200 ปี ซึ่งอยู่แถวบ้านหัวแฮด และบ้านโนนหมากเฟือง (ปัจจุบัน คือ บ้านศีรษะแรด และบ้านมะเฟือง) เชื่อว่า เป็นผ้าซิ่นที่กลุ่มคนเชื้อสายลาวเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น (อ้างอิงจากหลักฐานตำนานพระเจ้าใหญ่และการก่อตั้งบ้านศีรษะแรด) ต่อมาได้แพร่ขยายการทอผ้าซิ่นตีนแดงจากบ้านศีรษะแรด และบ้านมะเฟืองไปยังบ้านจาน บ้านแวง และบ้านนาโพธิ์ ลักษณะของผ้าซิ่นตีนแดง คือ ทอด้วยไหมทั้งผืน หัวซิ่นและตีนซิ่นของผ้าจะเป็นสีแดงสด ตอนกลางของผ้าจะเป็นลายมัดหมี่ เรียกว่า หมี่ขอ จะเป็นสีดำ สีน้ำตาลเหลืองทองจะทอเป็นผืนเดียวกัน ไม่ใช้การตัดต่อระหว่างหัวซิ่น ตีนซิ่น และตัวซิ่น ในสมัยโบราณนิยมทอให้เด็กและวัยรุ่นสวมใส่ เพราะเป็นสีที่มีความสดใสมาก โดยใช้ฟืมซาว หรือ ฟืม 20 เป็นผ้าผืนเล็กเหมาะสำหรับเด็กและวัยรุ่น ต่อมามีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นผ้าผืนใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ จึงนิยมใช้ฟืม 40 ในการทอ การทำซิ่นตีนแดงถือว่า มีความยุ่งยากมากกว่าการทอผ้าชนิดอื่น โดยเฉพาะการมัดหมี่ ซึ่งเกือบจะมีการสูญหายไป ต่อมามีการนำออกแสดงนิทรรศการในโอกาสต่าง ๆ หลายครั้ง มีการรณรงค์ให้มีการผลิตและใช้แต่งกาย ผ้าซิ่นตีนแดงจึงกลับมาเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในปี 2546 ผ้าซิ่นตีนแดง ก็ถูกเลือกให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์

W_kainoi W_Kolong

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฐานข้อมูลผ้าทอพื้นเมืองอีสานใต้ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554

next-to