บันทึก ศึกษา ธุงอีสาน
หัวหน้าโครงการ : ประทับใจ สิกขา
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลธุงอีสานในรูปแบบและประเภทของธุง กรรมวิธี/เทคนิคการผลิต ลวดลายบนผืนธุง รวมถึงความเชื่อของคนอีสานเกี่ยวกับธุง
ด้านรูปแบบและประเภทของธุง พบว่า รูปแบบของธุงในภาคอีสาน มีความแตกต่างกันตามพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่ในภาคอีสานมีความถนัดในการทอผ้าที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ผลิตธุงโดยส่วนใหญ่มักมีการพัฒนาการมาจากการทอผ้าพื้นเมือง เช่น เขตพื้นที่ใดมีความถนัดทางด้านการเก็บขิดก็จะใช้เทคนิคการเก็บขิดในการสร้างภาพและลวดลายบนผืนผ้าธุง เขตพื้นที่ใดถนัดการทอผ้าขาวม้าก็จะใช้รูปแบบของลายผ้าขาวม้ามาผลิตเป็นผ้าธุง ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรูปแบบบนผ้าธุงที่แตกต่างกัน ส่วนรูปทรงมักเกิดจากความนิยมที่สืบต่อกันมา เช่น เขตพื้นที่ใดนิยมผลิตธุงเป็นผืนผ้ายาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็จะสืบทอดรูปทรงนั้นต่อ ๆ กันมา เขตพื้นที่ใดที่นิยมนำผืนผ้ามาตัดเย็บเป็นรูปทรง เพิ่มเติมให้มีหาง มีกระเป๋าสำหรับใส่ดอกไม้และเงิน ก็จะถือรูปทรงนั้นผลิตสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ดังนั้น หากจำแนกประเภทของธุงอีสาน อาจจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.ธุงโบราณ เป็นการผลิตโดยใช้รูปแบบดั้งเดิม เช่น ใช้ผ้าขาวหรือสีธรรมชาติแล้วใช้ไม้ไผ่สอดคั่นสร้างรูปภาพ การใช้ผ้าพื้นสีขาวติดระบายเพื่อถ่วงน้ำหนักและสร้างความสวยงาม การเขียนภาพตามความเชื่อบนผืนผ้า เป็นต้น
2.ธุงประยุกต์ เป็นการประยุกต์จากธุงโบราณ ทั้งนี้อาจเป็นประยุกต์ด้านวัสดุหรือเทคนิควิธีการผลิตก็ได้ เช่น ใช้เทคนิคการพ่นสีบนผืนผ้าแทนการเขียน การพิมพ์สกรีนด้วยเทคนิคต่าง ๆ บนผืนผ้า การเปลี่ยนวัสดุจากไม้ไผ่ที่เคยใช้สอดคั่นเป็นใช้เส้นพลาสติก หรือริบบิ้น แทนการใช้กระดาษสี หรือวัสดุต่าง ๆ พันบนเส้นตอกไม้ไผ่ก่อนนำมาสอดคั่น เป็นต้น แต่รูปแบบยังพยายามรักษารูปแบบและลวดลายดั้งเดิมไว้
3.ธุงสร้างสรรค์ เป็นธุงที่คิดค้นขึ้นใหม่เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และความสวยงาม เช่น การนำผ้าสีมาเย็บต่อเติมและตกแต่ง การตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยพยายามหลีกเลี่ยงรูปแบบดั้งเดิมที่เคยใช้ การพิมพ์ภาพหรือลายตามสมัยนิยมลงบนผืนผ้า การนำภาพถ่ายต่าง ๆ มาตัดแยกและสอดสลับเพื่อให้เกิดภาพโมเสค เป็นต้น
4.ธุงอย่างง่าย เป็นการนำผืนผ้าที่สามารถหาได้จากท้องถิ่น หรือจากท้องตลาดทั้งที่เป็นสีพื้น หรือลายต่าง ๆ นำมาตัดเย็บตกแต่งขอบและระบายเพื่อใช้ในพิธีกรรม
ความเชื่อของคนอีสานเกี่ยวกับธุง พบว่า ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากธุงของคนอีสานไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้จากจำแนกออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการถวายผ้าธุง และด้านการนำธุงมาใช้
สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวกับการถวายธุงให้วัดส่วนใหญ่ เชื่อว่า ได้กุศลแรง เพราะธุงถือเป็นของสูงในพิธีกรรม และมักถูกนำมาใช้ตกแต่งในงานบุญที่สำคัญเสมอ หากถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายเชื่อว่าบุญจะถึงและได้บุญมาก ดังนั้นผ้าธุงที่ญาติโยมนำมาถวายวัดจึงมักนิยมเขียนหรือปักชื่อทั้งญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว และชื่อผู้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ดังนั้น คนอีสานจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับธุงใน 2 ลักษณะ คือ การทำบุญ เมื่อได้ทำบุญด้วยการถวายธุงแล้ว จะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การให้ทาน เมื่อได้ให้ทานด้วยการถวายธุงแล้วจะช่วยให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นจากนรกหรือวิบากกรรม
ความเชื่อเกี่ยวกับการนำธุงมาใช้ เชื่อว่า 1)การปักหรือแขวนธุงในเขตงานบุญเป็นการบอกกล่าวหรือเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คน รวมทั้งสิ่งที่มองไม่เห็นได้รับรู้สถานที่แห่งนี้กำลังมีงานบุญ บางแห่งได้เย็บกระเป๋าติดกับตัวธุงสำหรับใส่เงิน ดอกไม้และอื่น ๆ ไว้ด้วย ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการใส่เงินอาจมีแตกต่างกันไปบ้าง เช่น บางแห่งเชื่อว่าเป็นการส่งเงินให้คนหรือญาติที่ตายไปแล้ว บางแห่งบอกว่าให้กับเจ้ากรรมนายเวร 2)การปักหรือแขวนธุงเป็นการป้องกันพญามารมารบกวนเขตพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา 3)การปักหรือแขวนธุงเป็นการตกแต่งสถานที่งานบุญที่สำคัญที่เคยยึดถือสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี
รายละเอียดเพิ่มเติม : บันทึก ศึกษา ธุงอีสาน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554