การสำรวจและศึกษาภูมิปัญญาด้านสิ่งทอในเขตลุ่มน้ำโขง ของชาวภูไท จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทยและชาวภูไท-มะกอง แขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หัวหน้าโครงการ: สิทธิชัย สมานชาติ
ลวดลายและสีสันผ้าทอของชาวภูไท
1.ผ้าซิ่นทิว
ผ้าซิ่นทิวหรือผ้าซิ่นก่วย มีการทอในกลุ่มวัฒนธรรม 2 กลุ่ม ภูไทหรือผู้ไทย ในจังหวัดมุกดาหารเรียกผ้าชนิดนี้ว่า ผ้าซิ่นทิว
ผ้าซิ่นทิว เป็นผ้าซิ่นไหมลายขวางลำตัว ลวดลายเป็นริ้วสีน้ำเงินหรือสีดำสลับสีแดง ลวดลายนี้เกิดจากการตั้งเครือเส้นยืนสีน้ำเงินหรือสีดำ และสีแดงสลับกันไป ทอสานด้วยเส้นพุ่งสีแดงตลอดทั้งผืน เมื่อนำมาเย็บเป็นผ้าซิ่นตะเข็บเดียว จึงเป็นลายขวางลำตัว
ในปัจจุบันคนไทยในภาคอีสาน เช่น อุบลราชธานี ในการสร้างลวดลายผ้าซิ่นทิวหรือผ้าซิ่นก่วยไปผสมผสานกับการทอผ้ามัดหมี่เส้นพุ่ง โดยใช้เครือเส้นยืนแบบผ้าซิ่นทิวหรือซิ่นก่วย ส่วนเส้นพุ่งเป็นมัดหมี่ เรียกว่ามัดหมี่ชนิดนี้ว่า หมี่เครือก่วย
2.ผ้าซิ่นมัดหมี่
ผ้ามัดหมี่ของกลุ่มวัฒนธรรมภูไทหรือผู้ไทยจำแนกตามลักษณะการใช้สอยผ้ามัดหมี่ออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
ผ้ามัดหมี่ฝ้าย นิยมย้อมด้วยสีคราม (Indigo) เป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนจะย้อมด้วยสีดำจากมะเกลือ การมัดย้อมจะย้อมเพียงสีเดียวจึงเป็นผ้ามัดหมี่ที่สวยงามแบบเรียบง่าย ใช้สอยเป็นผ้าซิ่นในชีวิตประจำวัน การใช้สอยในรูปแบบวัฒนธรรมเดิมจะมีการต่อหัวซิ่น และตีนซิ่น
ผ้ามัดหมี่ไหม เป็นผ้ามัดหมี่ที่ชาวภูไทหรือผู้ไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ทอขึ้นเพื่อเป็นผ้าซิ่นที่ใช้นุ่งในโอกาสพิเศษตามประเพณี อาทิ งานกินดอง (แต่งงาน) งานบุญผะเหวด และงานบุญสำคัญ ๆ มีเอกลักษณ์พิเศษที่น่าสังเกต คือ โครงสร้างของผ้ามัดหมี่ไหมในจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย และเมืองพิน แขวงสะหวันเขต สปป.ลาว ดูค่อนข้างสดใส ผ้ามัดหมี่ไหมของชาวภูไทหรือผู้ไทยมีการทอทั้งลวดลานแบบหมี่รวด/หมี่โลด และแบบหมี่คั่น เดิมจะมีการต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นด้วย
3.ผ้าแพรวาขิด
ชาวภูไทหรือผู้ไทยเรียนรู้ลวดลายโดยศึกษาจาก ผ้าแซ่ว ซึ่งเปรียบเหมือนครู ผ้าแซ่วนวมแม่ลายสำคัญ ๆ ไว้ในผืนผ้าเดียวกัน เป็นต้นแบบลายแก่ผู้หัดทอและผู้ทอที่ใช้วิธีผสมลวดลายต่าง ๆ ในผืนเดียวกัน นับเป็นภูมปัญญาที่ชาญฉลาดของคนไทยในภาคอีสาน เป็นการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ทอรุ่นหลัง
4.ผ้าเข็นและผ้าโสร่งเทคนิค “ควบเส้น” หรือที่รู้จักกันว่า ผ้าหางกระรอก ซึ่งในอดีตนิยมทอเพื่อใช้เป็นผ้าโจงกระเบน
การควบเส้น เป็นวิธีการที่สร้างลวดลายและเหลื่อมกันของเส้นใยในผืนผ้าด้วยขั้นตอนก่อนการทอ โดยนำเส้นใยไหมหรือเส้นใยฝ้ายสองสี ที่มีน้ำหนักสีอ่อนแก่แตกต่างกัน เช่น สีเขียวกับสีดำ สีขาวกับสีเขียว สีแดงกับสีเหลือง มาปั่นตีเกลียวรวมเป็นเส้นเดียวกัน มีทั้งการปั่นตีเกลียวซ้ายและการปั่นตีเกลียวขวา เส้นด้ายที่ตีเกลียวแล้วนี้ใช้เป็นเส้นพุ่งหรือเส้นยืนก็ได้
การทอผ้าเส้นควบจะใช้เทคนิคการทอขัดธรรมดา เมื่อทอเสร็จเป็นผืน เนื้อผ้าจะมีลักษณะสีเหลื่อมล้ำกันเป็นมันวาว มองดูคล้ายขนหางกระรอก จึงเรียกว่า ผ้าหางกระรอก
รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจและศึกษาภูมิปัญญาด้านสิ่งทอในเขตลุ่มน้ำโขง ของชาวภูไท จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทยและชาวภูไท-มะกอง แขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554