เทคนิคและวิธีการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน
หัวหน้าโครงการ: ขนิษฐา ทุมมากรณ์
อาจารย์วิศปัตย์ ได้ให้แนวคิดการนำเสนอสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงวงโปงลาง เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง สนุกสนานและได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสาน ไว้ว่า
1.การแสดงวงโปงลาง ควรจะต้องรักษาคุณลักษณะของวงโปงลางเอาไว้โดยเฉพาะหลักเรื่องความเรียบง่ายที่ปัจจุบันหลาย ๆ วงมักจะละเลย และปรุงแต่งจนรกรุงรัง รวมถึงการฟ้อนด้วยนาฏยลักษณ์อีสาน ที่ปัจจุบันนี้ดูราวกับว่าเป็นการรำไทยประกอบดนตรีอีสานเสียมากกว่า ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการแต่งกายแบบอีสาน ที่ควรจะพิถีพิถันในการเลือกใช้ผ้าให้สอดคล้องกับลักษณะของการแสดง เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าแพรวาในการฟ้อนที่มิใช่การฟ้อนผู้ไทบ้านโพน หลีกเลี่ยงการนุ่งซิ่นสั้นในการฟ้อนที่มิใช่เซิ้งบั้งไฟ การเลือกเครื่องประดับสไตล์อีสาน หรือการเกล้าผมประดับดอกไม้แต่พองาม เป็นต้น
2. ใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการสร้างสรรค์การแสดง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำวิจัยออกมาเป็นตัวเล่ม แต่หมายถึงว่า ใช้การแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบในการสร้างสรรค์ พัฒนาชุดการแสดงด้วยกระบวนการ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์หรือแปรรูปออกมาเป็นชุดการแสดงที่สามารถอธิบายได้ สื่อสารได้ รวมถึงพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันว่า เหมาะสม หรือลงตัวแล้วหรือยัง
3. ยกระดับการแสดงวงโปงลางให้เป็น Culture shows คือ การแสดงเชิงวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวอีสาน เพราะตลอดระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา การแสดงวงโปงลางมีพัฒนาการที่ค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากการทำเลียนแบบต่อ ๆ กันมาโดยใช้วิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นแบบแผน จนบางครั้งเกิดความซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย ทั้ง ๆ ที่การแสดงวงโปงลางเมื่อเริ่มแรกนั้นมีคุณลักษณะเด่น คือ สามารถประยุกต์และปรับตัวได้ง่าย แต่การปรับตัวนั้นก็มีเงื่อนไขที่ว่าควรจะปรับตัวบนฐานของวัฒนธรรม ในการยกระดับให้เป็นโชว์ทางวัฒนธรรมนั้น ในยุคแรก ๆ ก็มีความพยามยามที่จะทำ เช่น การประยุกต์การแสดงของอีสานใต้โดยใช้วงโปงลางบรรเลง เช่น ซันตรูต เรือมอันเร หรืการเอาปี่ผู้ไทมาบรรเลงลายผู้ไท เป็นต้น แต่การยกระดับเพื่อให้เป็นโชว์ทางวัฒนธรรมนั้นจะต้องใส่ใจกับรายละเอียดทางวัฒนธรรมค่อนข้างมาก เช่น การแต่งกาย ท่าฟ้อน และดนตรี วงโปงลางอาจจะผสมผสานเครื่องดนตรีประจำถิ่นเพื่อให้ได้สำเนียงท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น สำเนียงแบบเขมร โดยการเอาซอตรัว กลองสะกวร มาเล่นประกอบ สำเนียงผู้ไทก็เอาปี่ผู้ไทมาประกอบ เป็นต้น
4.ประยุกต์ใช้ศาสตร์ของการแสดง เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ น่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การแปรแถวแปรขบวน การแสดงเชิงละคร การร้อยเรียงเรื่องราวหรือการเล่าเรื่อง ที่ผ่านมาการแสดงวงโปงลางมักจะเป็นการฟ้อนรำประกอบดนตรี เป็นชุด ๆ แต่หากมีการร้อยเรียงภายใต้สารัตถะ (Theme) เช่น รวมเผ่าไทอีสาน ก็อาจจะแสดงวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละชนเผ่า และสรุปปิดท้ายด้วยการรวมเผ่าอีสานเพื่อสะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก็จะทำให้การแสดงน่าสนใจ และผู้ชมเองก็ได้รับรู้เรื่องราวได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
รายละเอียดเพิ่มเติม : เทคนิคและวิธีการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2552, 2554
เทคนิคและวิธีการเล่นพิณ โดย อ.อาคม ศรประสิทธิ์ 1
เทคนิคและวิธีการเล่นพิณ โดย อ.อาคม ศรประสิทธิ์ 2
เทคนิคและวิธีการเล่นโปงลาง โดย อ.ธีระ โกมลศรี