การหล่อพระพุทธรูปแก้ว เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและสืบสานวัฒนธรรมความเชื่อ

หัวหน้าโครงการ : เรวัฒน์ เหล่าไพบูลย์

ร่องรอยแก้วในสยาม

ลูกปัดแก้ว

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของการขุดค้นโดยนักโบราณคดีและชาวบ้าน พิสูจน์ได้ว่าประมาณพันกว่าปีก่อนประวัติศาสตร์ ภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดส่งออก เนื่องจากพบร่องรอยของโรงงานที่มีวัตถุดิบในการทำลูกปัดและลูกปัดที่หยุดผลิตกลางคันมากมาย แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนผลิตและคนที่ทำการค้านี้เป็นใคร ทำไมจึงมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถบรรจงสร้างสรรค์งานศิลปะได้งดงามเพียงนั้น ปัจจุบันลูกปัดโบราณที่ขุดได้ดังกล่าวถูกนำมาเป็นสินค้า โดยมีการทำการตลาดด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำให้ลูกปัดซึ่งจัดว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่จะบอกถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์สูญหายไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการขุดพบลูกปัดโบราณ โดยนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 11 จากแหล่งโบราณคดีบ้านเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

banchuek

เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับสำริด วัดถ้ำพระศิลาทอง บ้านนาหนองเชือก ต.เจียด อ.เขมราฐ (ภาพจาก : http://www.komchadluek.net)

ตุ้มหูและกำไลแก้ว

การขุดพบตุ้มหูและกำไลโบราณ ลักษณะพิเศษจากแหล่งโบราณคดีบ้านเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดย สำนักศิลปากรที่ 11 จากหลักฐานนี้แสดงว่า ในเขตบ้านเจียดนั้น มีการใช้เครื่องประดับตกแต่งที่ทำจากวัสดุแก้ว แต่ไม่พบหลักฐานการสร้างหรือแหล่งผลิตวัสดุแก้วในบริเวณนั้น

พระแก้วของไทย

จากประวัติการสร้างพระพุทธรูป จะพบว่าส่วนใหญ่สร้างด้วยศิลาทราย หินแกะสลัก หรือโลหะชนิดต่าง ๆ เช่น ทอง ทองเหลือง ทองแดง และทองสัมฤทธิ์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปแก้ว มีแต่กำไล ตุ้มหู และลูกปัด เท่านั้นที่มีการค้นพบในด้านโบราณคดี สำหรับประเทศไทยมีพระแก้วที่สำคัญอยู่หลายองค์ ส่วนประวัติการสร้างไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเป็นแต่ตำนานเล่าสืบต่อกันมา องค์พระแก้วดังกล่าวสร้างจากวัสดุหลายประเภท พระพุทธรูปบางองค์สร้างจากแก้วใส แก้วสีต่าง ๆ หรืออาจะเป็นหินธรรมชาติ เช่น หินเคี้ยวหนุมาน (ควอต์) หยกสีเขียว หยกสีขาว แล้วนำมาแกะสลัก

รายละเอียดเพิ่มเติม : การหล่อพระพุทธรูปแก้ว เพื่ออนุรักษ์ภูมปัญญาและสืบสานวัฒนธรรมความเชื่อ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2554