การอนุรักษ์และพัฒนาตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสาน
หัวหน้าโครงการ : ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา
รายงานโครงการได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับหมอยาพื้นบ้าน ตำรับยาสมุนไพรรักษาโรค สมุนไพรที่ใช้ในตำรับยา รายชื่อและประวัติหมอพื้นบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี และตัวอย่างตำรับยาพื้นบ้าน
จากการศึกษาบทบาทของหมอพื้นบ้านและรวบรวมตำรับยาสมุนไพรของผู้ดำเนินโครงการสรุปได้ว่า
1.อายุ เนื่องจากหมอพื้นบ้านส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยที่มารักษามีความเชื่อถือและศรัทธาในการรักษา ซึ่งมีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยที่มาทำการรักษา อันเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวม คือ ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่มีข้อด้อย คือ สุขภาพของหมอพื้นบ้านที่ทรุดโทรมตามวัย ซึ่งบางครั้งเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของตน เช่น หูไม่ค่อยดี ตามองไม่ค่อยเห็น หรือบางคนมีโรคประจำตัว จึงอาจทำให้บทบาทของหมอพื้นบ้านลดลงได้ในอนาคต
นอกจากนั้นแล้วยังไม่ค่อยมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เนื่องจากมีผู้ที่สนใจน้อย ไม่มีใครอยากเรียน รวมทั้งรายได้ในการประกอบอาชีพหมอพื้นบ้านนั้นไม่แน่นอน และมีสถานบริการด้านสาธารณสุขได้กระจายมาสู่ชนบทมากขึ้น องค์ความรู้จึงสูญหายไปพร้อมกับหมอพื้นบ้านที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป
2.หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ทั้งนี้เนื่องจากสมัยก่อนเพศชายมีโอกาสได้เรียนหนังสือและวิชาการต่าง ๆ มากกว่า และการทำการรักษาบางอย่างมีคาถาอาคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสังคมไทยให้การนับถือและศรัทธาผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
3.การถ่ายทอดความรู้ ส่วนมากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลาน หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องที่เป็นญาติหรือเป็นเพื่อนกัน ดังนั้นความรู้จึงจำกัดในวงแคบ ๆ และยิ่งไม่มีผู้สนใจสืบทอด ความรู้ต่าง ๆ จึงค่อย ๆ สูญหายไป นอกจากนั้นแล้วยังใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยคำพูด ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นตำรา ซึ่งทำให้โอกาสที่ความรู้จะสูญหายไปนั้นมีมากและมีโอกาสผิดพลาดสูง ส่วนในกลุ่มที่มีตำรายาสมุนไพรก็ไม่ได้ดูแลรักษาเท่าที่ควร ตำราส่วนใหญ่เก่าและมีตัวหนังสือที่เลือน บางเล่มเขียนด้วยภาษาที่ใช้แต่โบราณ ซึ่งรุ่นต่อ ๆ มาอาจจะไม่สามารถเข้าใจความหมายได้
4.สถานภาพทางสังคมและบทบาทในการรักษา หมอพื้นบ้านส่วนมากได้รับความนับถือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี บทบาทในการรักษามีน้อย เนื่องจากประชาชนได้ให้ความสนใจใช้บริการกับแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า ผู้ที่มารักษากับหมอพื้นบ้านส่วนมากจะรักษามาจากหลายแห่งแล้วแต่ไม่ได้ผล หรือผิดหวังกับการรักษาในสถานบริการของรัฐ ประชาชนมีการพึ่งพาหรือรักษาตนเองด้วยสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นน้อย หรือมีผู้สนใจด้านสมุนไพรอย่างจริงจังน้อย เป็นสาเหตุให้บทบาทในการรักษาของหมอพื้นบ้านลดลง
5.ตำรายาสมุนไพร ส่วนมากมักใช้วิธีการจดจำในการเรียนรู้มากกว่าเก็บความรู้ไว้ในตำรา ซึ่งยางตำราเป็นอักษรไทยโบราณ อักษรขอม เป็นต้น บางเล่มตัวหนังสือเลอะเลือน นอกจากนั้นแล้วสมุนไพรในแต่ละท้องถิ่นก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการตีความ
6.ตัวยาสมุนไพร หมอพื้นบ้านมักจะให้การรักษาโดยใช้สมุนไพรแบบตำรับ ซึ่งจะมีสมุนไพรหลายชนิดประกอบกัน ประกอบกับสมุนไพรหลายชนิดหายากขึ้น เช่น ประดงเลือด ประดงแดง นอแรด งาช้างเผือก เป็นต้น การรักษาโรคบางโรคต้องหยุดไปเนื่องจากหาสมุนไพรไม่ได้ เพราะหมอพื้นบ้านส่วนมากจะไม่ตัดตัวยาตัวใดตัวหนึ่งออกจากตำรับ
รายละเอียดเพิ่มเติม : โครงการอนุรักษ์และพัฒนาตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสาน รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2542