การอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก : กันเกราไม้มงคลประจำมหาวิทยาลัย

หัวหน้าโครงการ : วสุ อมฤตสุทธิ์

รายงานได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ไม้กันเกรา ได้แก่ การเก็บและปรับปรุงสภาพเมล็เดพันธุ์ การเพาะเมล็ดและดูแลต้นกล้า  การศึกษาการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตกับต้นกล้ากันเกรา การศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ การใช้ประโยชน์โดยตรง  สรรพคุณทางยา การศึกษาการใช้ประโยชน์จากไม้กันเกราในการเป็นไม้ย้อมสีฝ้าย

kankrao2

กันเกราเป็นไม้โตเร็วอเนกประสงค์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดอกมีกลิ่นหอม นิยมนำมาร้อยมาลัยในช่วงประเพณีสงกรานต์ ในส่วนของเนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียดมีความเหนียวและแข็ง ทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวก มีน้ำมันอยู่ในเนื้อไม้ สามารถชักเงาได้ดีและงดงาม เหมาะสำหรับการนำมาก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสา ประตู หน้าต่าง อกไก่ ที่ต้องการความแข็งแรงและทนทาน สามารถทำไม้บุผนังที่สวยงาม นำมากลึงทำเครื่องเรือน นอกจากนี้ ยังมีการนำมาทำโครงเรือ กระดูกงู เสากระโดงเรือ หมอนรางรถไฟ ชาวจีนทางใต้นิยมนำมาทำหีบจำปาใส่ศพ

ไม้กันเกรามีสรรพคุณทางยา โดยเปลือกของไม้กันเกรา สามารถนำมาเข้ายาเพื่อใช้บำรุงโลหิต แก้ผิวหนังผุพอง ปวดแสบปวดร้อน ส่วนของแก่นไม้ มีรสเฝื่อน ฝาดขม ใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้อาการหืด ไอ ริดสีดวง ท้องมาน แน่นหน้าอก ลงท้องเป็นมูกเลือด แก้พิษฝีดาษ บำรุงม้าม แก้เลือด แก้ลมต่าง ๆ และเป็นยาอายุวัฒนะ

นอกจากนั้นยังพบว่า ส่วนของเปลือกลำต้นและส่วนของใบสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเป็นไม้ย้อมสีเส้นฝ้าย

kankrao3

รายละเอียดเพิ่มเติมการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก : กันเกราไม้มงคลประจำมหาวิทยาลัย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2544