สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกกของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ
หัวหน้าโครงการ : มาลี ประจวบสุข
หัตถกรรมเสื่อกก บ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
“กก” ไม้ล้มลุกที่มีรูปร่างและระบบนิเวศคล้ายกับหญ้า พบได้ทั่วไปตามบริเวณที่ชื้นแฉะ หนองน้ำ หรือ บึง กกเป็นพืชน้ำที่มีความเหนียวทนทานเติบโตเร็ว ทั้งยังหาได้ทั่วไปในท้องถิ่น พืชที่ใคร ๆ ก็มักจะจัดอยู่ในกลุ่มวัชพืชไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกร แต่สำหรับชาวบ้านนาหมอม้า ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ กกกลับกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเล็ก ๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญแห่งนี้ได้ลืมตาอ้าปากมีอาชีพเสริมและเลี้ยงปากท้องได้อย่างดี การทอเสื่อกกเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินสืบเนื่องกันมาในระบบครอบครัว เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอเป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ และเมื่อนำทักษะการทอเสื่อกกที่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดจนทำให้กลายเป็นเสื่อกก สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาว (OTOP ระดับ 4 ดาว) ในปี 2549 ของจังหวัดอำนาจเจริญ
ขั้นตอนการทอเสื่อกก
การเตรียมและสอยต้นกก
- ตัดต้นกกสด โดยคัดเลือกต้นกกที่มีขนาดเท่ากันไว้ด้วยกัน
- นำต้นกกที่คัดแล้วมาสอยเป็นเส้นเล็ก ๆ โดยใช้มีดปลายแหลมคม โดยกก 1 ต้น สามารถกรีดตามแนวตั้งได้ 5 เส้น
- นำเส้นกกที่สอยแล้วมาผึ่งแดดให้แห้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ (ถ้าเป็นไปได้ต้องเป็นแดดจัด ๆ 5-7 แดดให้แห้ง)
- นำเส้นกกสอยที่ตากแห้งแล้วมามัดเป็นมัด ๆ รอการย้อมสีตามลายที่ออกแบบไว้
การออกแบบ
- ออกแบบลวดลาย เช่น หมี่ ลายหงส์ ลายดอกแก้ว ลายนกอินทรีย์ ลายบักจับ ลายบัวใต้น้ำ เป็นต้น
- เอาต้นกกมามัดด้วยเชือกตามลายที่ออกแบบไว้
- ย้อมสีตามลายที่ออกแบบ
การย้อมสี สามารถทำได้ทั้งย้อมสีสังเคราะห์ (สีเคมี) และสีธรรมชาติ
- ก่อไฟโดยไฟที่ใช้ต้องสม่ำเสมอ นำปี๊บ หรือกระทะใส่น้ำพอประมาณท่วมเส้นกกนำมาตั้งบนเตา รอให้น้ำเดือด
- พอน้ำเดือดก็นพสีที่เลือกมาเทลง
- นำเส้นกกที่คัดเลือกแล้วลงย้อมจนเพียงพอที่จะใช้ในการทอ
- นำเส้นกกที่ย้อมสีแล้วลงล้างในน้ำเปล่าแล้วนำไปตากแดดที่จัดจนแห้ง
- นำเส้นกกที่ย้อมสีตากแห้งแล้วมากเก็บมัดรวมกัน โดยแยกสีเป็นสีแต่ละสี
ในการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นสีที่ได้จากเปลือกของต้นไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นกระโดน ต้นมะม่วง ต้นประดู่ ต้นกระถินณรงค์ มีขั้นตอนการย้อมสีเพิ่มเติมขึ้นมา ดังนี้
- หมักเส้นกกที่เตรียมไว้ด้วยโคลน
- นำเปลือกไม้ที่ต้องการสีมาแช่ในน้ำและต้มน้ำให้เดือด
- นำเอาเส้นกกที่ผ่านการหมักโคลนไปย้อมด้วยสีธรรมชาติที่เตรียมไว้
- นำไปล้างน้ำเพื่อให้สีส่วนเกินออกไป และตากให้แห้ง
การทอเสื่อกก
- กางฟืมที่ทำสำเร็จรูปมากาง และร้อยเส้นด้ายโดยขึงสอดตามรูฟืมทุกรูเป็นเส้นยืน ขึงให้ตึง ตามขนาดที่กำหนด (ฟืมที่ใช้ต้องมีขนาดเท่ากับเส้นกกและฟืมแต่ละฟืมก็อาจจะใช้ทอลายไม่เหมือนกัน)
- นำกกที่ผ่านการย้อมสีหรือสีธรรมชาติที่ตากจนแห้งจนแล้วไปพรมน้ำเพื่อให้เส้นกกนุ่ม ห่อด้วยผ้า กระสอบป่านหรือถุงพลาสติกเพื่อให้กกนิ่ม ทอได้แน่น และเหนียว ไม่หักง่าย
- ในการทอเสื่อจะใช้คน 2 คน คนแรกเป็นคนทอ อีกคนหนึ่งเป็นคนสอดเส้นกก คนทอจะต้องคว่ำฟืมเพื่อให้มีช่องว่างสำหรับสอดกก คนสอดจะสอดเส้นกกโดยแนบส่วนหัวของเส้นกกกับไม้สอด สอดไปตามช่องระหว่างเชือกที่แยกออกจากกันขณะที่คว่ำฟืม พอสอดไปสุดริมเชือกอีกข้างดึงไม้สอดกลับคืนคงเหลือแต่เส้นกก คนทอจะจับฟืมกระทุ่งเข้ามาให้แน่น (เหมือนทอผ้า)
- คนทอหงายฟืม คนสอดก็ใช้ส่วนปลายของเส้นกกแนบกับไม้สอด สอดกกเข้าไปอีก คนทอจะกระทุ้งฟืมเข้าหาตัว
- เมื่อกระทุ้งเสร็จ ริมขอบเสื่อจะต้องไพริมเสื่อทางด้านซ้ายมือให้แน่น เพื่อไม่ให้ริมขอบเสื่อหลุดลุ่ย การไพริมเสื่อ คือ การใช้ปลายกกม้วนงอลงแล้วสอดพับเชือกขัดไว้ให้แน่น
- เมื่อคว่ำฟืม ต้องไพริมเสื่อทางด้านขวามือ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ขนาดตามที่ต้องการ
- พอทอเสร็จก็ตัด แล้วนำฟืมออกมามัดด้ายที่ปลายให้แน่น เพื่อป้องกันการหลุดของเส้นกกที่ทอ เสร็จแล้วใช้กรรไกรตัดไหลที่ริมขอบส่วนที่เกินออกทั้งสองข้าง นำไปตากแดด แล้วนำมาเก็บในที่ร่ม
รายละเอียดเพิ่มเติม : สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกกของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2556
There is One Comment.
Pingback: ผลิตภัณฑ์จากกก | Objects in Mekong Regions