การรวบรวมข้อมูลพิธีกรรมชนแดนโขงด้วยภาพถ่ายและวีดิทัศน์
หัวหน้าโครงการ : ประทับใจ สิกขา
รายงานนี้ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ ของชนเผ่าที่อาศัยตามลุ่มน้ำโขงในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย อันประกอบด้วย จังหวัดสกลนคร ได้แก่ ประเพณีโส้ทั่งบั้ง พิธีเหยาเลี้ยงผี จังหวัดนครพนม ได้แก่ ประเพณีดรุษแสก จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ พิธีเลี้ยงข่วงผีฟ้า จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีตาแฮก พิธีสูดขวัญ พิธีเหยารักษาคนไข้/แก้บน/เลี้ยงผี
การรำโส้ทั่งบั้ง หรือ ไทรอะติงเกา เป็นการแสดงที่สื่อเนื่องมาจากความเชื่อถือในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่แท้จริงของขาวไทโส้ ซึ่งมีความเชื่อว่า ผีบรรพบุรุษจะคอยดูแล ปกป้องรักษาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวไทโส้จะจัดให้มีการรำโส้ทั่งบั้งขึ้น เพื่อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ดูแล
การรำโส้ทั่งบั้งจะเริ่มต้นด้วยพิธีเหยาก่อน การเหยานี้ประกอบด้วยชุดสักการะต่าง ๆ หรือ คาย จำนวน 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วย เงิน 6 บาท ผ้าถุง 1 ผืน ผ้าขาว 1 วา ดาบ 1 เล่ม ไข่ไก่ 1 ฟอง เหรียญเงินฮาง 1 เหรียญ ข้าวสาร พังฉาดหรือพะเนาะ เหล้าไห 1 ไห ถาดดอกไม้ ธูปเทียน พิธีเหยาและรำโส้ทั่งบั้งนี้ใช้คนประกอบพิธี ดังนี้
1.ล่าม ผู้ทำหน้าที่เชิญวิญญาณ หรือละเนิดโส้
2.หมอเหยา หรือนางเทียมเจ้าจ้ำที่ทำหน้าที่ให้วิญญาณบรรพบุรุษเข้าร่างทรงและเพื่อนางเทียม
3. นักดนตรีชาย 7 คน ได้แก่ กลองเส็ง 1 คู่ ฉาบ ฉิ่ง แคน กระจับปี่ ซอ พะเนาะ
4. คนทั่งบั้ง 6 คน
5. นางรำ 10-12 คน หรือตามความเหมาะสม
พิธีจะเริ่มจากการเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาเข้าทรงหมอเหยา ร่างของหมอเหยาจะมีอาการสั่นเทิ้มไปทั้งร่าง เพื่อยืนยันว่าวิญญาณผีบรรพบุรุษได้เข้าทรงหมอเหยาจริง และหมอเหยาจะใช้วัสดุที่มีมาในชุดสักการะมาแสดงให้เห็น เช่น การตั้งดาบโดยใช้ปลายดาบตั้งได้จริง แสดงวิญญาณบรรพบุรุษได้เข้าทรงร่างหมอเหยาจริง จากนั้นล่ามก็จะบอกวัตถุประสงค์ของการเชิญมา อาจจะเป็นเรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วยไข้ หรือการประกอบอาชีพก็ได้ เมื่อเสร็จเรื่องสอบถามหรือเสร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว ล่าม หมอเหยา และผู้ประสานพิธีเหยาก็จะลุกขึ้นรำรอบเครื่องสักการะ จำนวน 3 รอบ แล้วนั่งลง จากนั้นไปก็จะเป็นการรำโส้ทั่งบั้ง ซึ่งจะมีท่ารำอยู่ 5 ท่า คือ
1.ท่าเชิญผีฟ้า เป็นท่าวิญญาณบรรพบุรุษที่เข้าทรงร่างหมอเหยาอยู่ในขณะนั้นได้ร่วมสนุกสนาน
2.ท่าทั้งบั้ง เป็นท่ารำบั้งด้วยมือเปล่า
3.ท่าถวายแถน เป็นท่าแสดงความเคารพวิญญาณบรรพบุรุษ
4.ท่าส่งผีฟ้า เป็นคำรำเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้ตรวจตรา สอดส่องดูแลผู้คนหรือสถานที่ที่มีการรำโส้ทั่งบั้ง
5.ท่าเลาะตูบ เป็นท่ารำแสดงถึงการติดตามวิญญาณบรรพบุรุษที่กำลังตรวจตราบริเวณบ้านที่ทำการรำโส้ทั่งบั้ง เสร็จแล้ววิญญาณของบรรพบุรุษก็จะออกจากร่างหมอเหยา จากนั้นเป็นการแสดงความสนุกสนานที่ทุกคนได้รับการดูแลจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการรำโส้ทั่งบั้ง
การรำโส้ทั่งบั้งเป็นการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวกันเหนียวแน่นของชาวไทโส้ ซึ่งได้สืบทอดกันมานาน โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องวิญญาณไสยศาสตร์ พิธีกรรมและการเคารพสักการะบรรพบุรุษนับเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของคนไทยโส้ในภาคอีสานที่ควรแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
รายละเอียดเพิ่มเติม : การรวบรวมข้อมูลพิธีกรรมชนแดนโขงด้วยภาพถ่ายและวีดิทัศน์ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2545