การสำรวจและจัดทำแผนที่พรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : วิโรจน์ เกษรบัว

ผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ : แก้ว อุดมศิริชาคร

สวนพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณรอบบึงหนองกระทาและร่องก่อ อยู่ทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 700 ไร่ นับเป็นแหล่งต้นน้ำแห่งสุดท้ายและเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของพรรณไม้ดั้งเดิมมากที่สุด

สภาพพื้นที่ในสวนพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วย

1.พื้นที่ป่าปลูก เดิมพื้นที่นี้มีสภาพเป็นป่าละเมาะที่มีต้นไม้ขึ้นห่าง ๆ ต่อมาเมื่อปลายปี 2552 บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณให้ปลูกป่าในพื้นที่นี้ขึ้น เรียกว่า ป่านิเวศชุมชน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ พรรณไม้ที่ปลูกเป็นพืชพื้นเมือง เพราะสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้ดี เช่น มันปลา (Fragreae fragrans) จาน (Butea monosperma) ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) และขี้เหล็ก (Cassia siamea) เป็นต้น พรรณไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการเจริญเติบโตค่อนข้างดี ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กำลังกลับเข้าสู่สภาพของป่าอีกครั้งหนึ่ง

ubu-botany-garden4

2.ป่าเต็งรัง พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เป็นป่าเต็งรัง ที่มีสภาพดินเป็นดินทราย จึงไม่สามารถอุ้มน้ำได้ดีนัก แต่เนื่องจากพื้นที่นี้มีระดับน้ำใต้ดินสูง ทำให้แหล่งน้ำบริเวณรอบ ๆ สามารถเก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งปี ทำให้สภาพป่าบางส่วนมีความหนาแน่นของพรรณไม้ค่อนข้างสูง พรรณไม้เด่นที่พบเป็นพืชทั่วไปในป่าเต็งรังของภาคอีสานที่สำคัญ ได้แก่ สะแบง (Diptercarpus intricatus) เหียง (D. obtusifolius) มะกอกเกลื้อน (Canarium subulatum) ชะมวง (Garcinua cowa) และหว้า (Syzigium cumini) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พรรณไม้ต้นส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกตัดเป็นจำนวนมาก

ubu-botany-garden3

3. ระบบนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากบริเวณสวนพฤกษศาสตร์นี้เป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีบางส่วนเป็นแหล่งน้ำ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ตลอดจนพรรณไม้น้ำต่าง ๆ เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว บัวบา และบัวสาย

ubu-botany-garden2

ความหลากหลายของพรรณไม้ในแปลงศึกษา พบ 28 วงศ์ 47 สกุล 51 ชนิด

ตัวอย่างพรรณไม้

ชื่อพื้นเมือง : รักใหญ่ น้ำเกลี้ยง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gluta usitata (Wall.) Ding Hoa

ลักษณะ : ไม้ต้น สูงถึง 10 เมตร ทุกส่วนของต้นน้ำยางข้นสีใส ใบเขียว เรียงแบบสลับ แผ่นใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 8-13 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร โคนใบรูปลิ่มหรือมน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน เส้นใบมี 20-25 คู่ ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร โคนก้านที่ติดกับกิ่งพองป่อง ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงเป็นกระเปาะหุ้มดอก เมื่อดอกบานจะหลุดร่วงด้านบน กลีบดอกสีขาวแยกกัน มี 6 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ติดอยู่บนฐานรองดอกที่มีลักษณะนูน เกสรเพศเมียมีก้านเกสรสั้น ยอดเกสรเป็นปุ่มเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปร่างกลม ติดอยู่บนก้านยาว 3-5 มิลลิเมตร ผลรูปร่างกลม สีเขียวหรือแดงเรื่อ มีปีกสีแดงสดที่เกิดจากการขยายตัวของกลีบดอก มี 1 เมล็ด

ma-huad

ชื่อพื้นเมือง : มะหวด หวดข่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh

ลักษณะ : ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งก้านอ่อนมีขนหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มี 7-9 ใบย่อย แผ่นใบรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบหนาเหนียว ผิวเป็นมันคล้ายแผ่นหนัง มีขนนุ่ม หนาแน่นทั้งสองด้าน เส้นใบมี 9-11 คู่ ก้านใบย่อยยาว 1-3 มิลลิเมตร ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มีเอกย่อยจำนวนมากรวมกันเป็นกระจุก กลีบเลี้ยงรูปไข่มี 4-5 กลีบ แยกกัน กว้าง 1-3 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น รังไข่รูปรี ผลเมล็ดเดียวเข็ง รูปรีหรือรูปขอบขนาน ผลแก่สีดำหรือม่วง เมล็ดรูปรี มีขั้วขนาดเล็ก

รายละเอียดเพิ่มเติม : การสำรวจและจัดทำแผนที่พรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2555