การจัดทำหนังสือจิตรกรรมฝาผนังหอพระบาทวัดทุ่งศรีเมือง

หัวหน้าโครงการ : สุรชัย ศรีใส

ขั้นตอนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นความชาญฉลาดในการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่ารวมไปถึงเทคนิควิธีการที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์สอดแทรกอยู่ ซึ่งคนยุคนั้นสามารถคิดค้นขึ้นได้อย่างน่าทึ่ง ทั้ง ๆ ที่วิทยาการสมัยนั้นยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างเช่นปัจจุบัน

isan-painting-wattungsrimuang

1.การเตรียมพื้นผนัง ผนังปูนโบราณนิยมทำการก่อฉาบด้วยปูนน้ำอ้อย ที่มีคุณสมบัติพรุนตัว สามารถระบายความชื้นได้ดี ซึ่งปูนน้ำอ้อยมีส่วนผสมของปูนขาว ทราย น้ำอ้อย และกาวหนังสัตว์ ผสมเข้ากันและนำไปก่อฉาบ กาวหนังสัตว์หรือกาวหนังควายได้จากส่วนที่เป็นหนังควายเผาเอาขนของหนังควายออกให้หมด โดยการนำมาขัดในน้ำให้สะอาดอีกครั้ง เพื่อลดกลิ่นหลังจากนั้นนำไปหมักประมาณ 15 วัน แล้วจึงนำน้ำหนังควายไปเคี่ยวจนกลายเป็นกาวน้ำหนังควาย หรือใช้ยางบงที่ได้จากเปลือกบง ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ นำมาบดให้ละเอียดแล้วตากให้แห้ง ผสมกับผงปูน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ขี้นกอินทรีที่เผาไฟให้สุกแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ผสมน้ำจนเหนียว ใช้ยึดก้อนอิฐหรือฉาบทาผนัง การผสมต้องได้สัดส่วนที่พอเหมาะ ถ้าปูนมากไป ผนังอาจจะแตกเป็นลาย หรือถ้าทรายมากไป จะทำให้ผนังร่วน

ปูนที่คนสมัยก่อนใช้ก่อฉาบ ล้วนได้จากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ เมื่อได้ผนังปูนที่ฉาบด้วยปูนน้ำอ้อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการล้างหรือปะสะพื้นด้วยน้ำใบขี้เหล็ก เพื่อกำจัดความเต็มของผนังปูนที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อล้างด้วยน้ำใบขี้เหล็กสดตำละลายน้ำให้ทั่วผนัง ทั้งช่วงเช้าและเย็นตลอดเวลา 7 วัน แล้วทดสอบโดยใช้ขมิ้นขีดที่ผนัง หากขมิ้นที่ขีดเป็นสีแดงหรือส้ม แสดงว่าผนังปูนยังมีความเค็มอยู่ ให้ล้างด้วยน้ำใบขี้เหล็กจนกว่าขมิ้นจะเป็นสีเหลือง ผนังจึงจะไม่มีความเค็มพร้อมที่จะทำการรองพื้นได้แล้ว ซึ่งเป็นวิธีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ

2.ขั้นรองพื้น เมื่อผนังพร้อมที่จะทำการเขียนแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการรองพื้นผนัง คนโบราณมีวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมในการรองพื้น ดังต่อไปนี้

2.1 ดินสอพอง คือ ดินขาวที่คนโบราณนิยมมาทาหน้าแทนแป้ง เป็นดินที่มีเนื้อเป็นสานประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอามะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีกรด เมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตเกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟูขึ้น ดูเผิน ๆ ก็เห็นว่าดินนั้นพองตัว จึงเรียกกันว่า ดินสอพอง นำมาผ่านกระบวนการทำให้ดินสอพองสะอาด

2.2 กาวเม็ดมะขาม คือ การนำเม็ดมะขามคั่วแล้วกะเทาะเปลือกออก แช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืน จากนั้นนำมาต้มเคี่ยวเติมน้ำอยู่เรื่อย ๆ จนกาวเม็ดมะขามออกมาผสมกับน้ำจนข้นเหนียว นำมกรองเอาเฉพาะน้ำกาว เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการรองพื้น

2.3 กาวยางมะขวิดหรือกาวยางกระถิน ยางมะขวิดมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง สีเหลืองอ่อนค่อนข้างใสได้จากต้นมะขวิด ยางมะขวิดมีมากในฤดูหนาว ปัจจุบันยางมะขวิดไม่มีขาย ช่างจึงหันมาใช้ยางกระถินแทน กาวยางกระถินเป็นยางไม้จากต้นกระถินณรงค์ ลักษณะทั่วไปไม่แตกต่างจากต้นกระถินบ้าน กาวยางกระถินมีลักษณะเป็นเม็ดใสสีน้ำตาลเข้ม วิธีการใช้ให้นำเม็ดกาวกระถินมาชงกับน้ำร้อนจนละลายหมด แล้วก็กรองด้วยผ้าขาวบางจนสะอาด ใส่ขวดก็สามาถนำมาใช้ผสมได้เลย แต่ไม่ควรทำไว้มากเกินไป เพราะกาวกระถินจะเสียส่งกลิ่นเหม็นจากการเน่าบูด สาเหตุที่ต้องใช้น้ำร้อนชง เพราะถ้าใช้วิธีการต้มกาวกระถินให้ละลาย เมื่อเย็นลงกาวกระถินจะคืนตัวเกาะกันเป็นเม็ด ส่วนคุณภาพสู้กาวยางมะขวิดไม่ได้ เพราะกาวยางมะขวิดมีคุณสมบัติเป็นกาวตลอดกาลไม่มีวันเสื่อม และยังไม่ดูดความชื้นในอากาศ

เมื่อเตรียมส่วนผสมทั้ง 3 อย่างเรียบร้อยแล้ว นำมาผสมคนให้เข้ากันจนได้ที่ ใช้เป็นสีรองพื้นก่อนเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วิธีตรวจสอบว่าส่วนผสมของสีรองพื้นได้ที่หรือไม่ โดยการใช้มือลูบในส่วนที่ทาพื้นแล้ว หากไม่มีผงดินสอพองติดมือออกมาแสดงว่าผสมกาวได้ที่ ให้ทารองพื้นประมาณ 2-3 ครั้ง ในแต่ละครั้งที่ทารองพื้นให้กดพื้นด้วยหลังหอยเบี้ยให้ทั่ว เพื่อการกดอัดให้พื้นดินสอพองติดแน่นกับพื้นผนัง ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรองพื้น พร้อมที่จะลงมือเขียนภาพได้แล้ว

isan-painting-wattungsrimuang2

3.ขั้นตอนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีกรรมวิธีการเขียนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะช่างโบราณเขียนสีภาพด้วยสีฝุ่น เป็นสีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีดำจากเขม่าไฟ สีแดงจากดินแดง สีเขียวจากสนิมทองแดง สีเหลืองจากยางต้นรง สีขาวจากการฝนหอยกี้ หรือสีแดงชาดจากต้นชาดหรคุณ และสีเคมี ได้แก่ สีบรรจุซองตราสตางค์แดง สีบางสีสมารถละลายน้ำได้ แต่สีบางสีต้องละลายในแอลกอฮอล์ ช่างเขียนสมัยก่อนจึงมีการดื่มเหล้า และใช้เหล้าผสมสีไปในตัว เช่น สีเขียวตังแช

สีฝุ่นก่อนที่จะเขียน ต้องมีการบดสีให้ละเอียดด้วยโกร่งบดยา หรือกะลามะพร้าว นำสีฝุ่นผสมน้ำและกาวกระถิน หรือกาวมะขวิดเป็นตัวยึดเกาะระหว่างชั้นสีกับพื้น คนให้เข้ากัน ช่างเขียนจะต้องเขียนภาพไปพร้อมกับการบดสี เพราะเนื้อสีจะตกตะกอน หากสีข้นเกินไปให้เติมน้ำ และกาวกระถินอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นช่างเขียนจะต้องมีความรู้เรื่องสีเป็นอย่างดี

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนัง หอพระบาท วัดทุ่งศรีเมือง ที่เห็นความแตกต่างจากภาพเขียนภาคกลาง คือ ภาพตัวพระตัวนางไม่นิยมปิดทองที่เครื่องประดับ แต่จะใช้สีเหลืองคล้ายสีทองระบายส่วนที่เป็นเครื่องประดับแล้วตัดเส้นด้วยสีแดง จะมีการปิดทองเฉพาะภาพพระพุทธเจ้า ผนังด้านหลังพระประธานเพียงแห่งเดียว

ส่วนเทคนิคการปิดทองในงานจิตรกรรมไทยของช่างโบราณ เริ่มด้วยการทาสีเหลืองบริเวณที่ต้องการปิดทองให้ทั่ว แล้วทาทับด้วยยางมะเดื่อ ทิ้งไว้สักพัก จึงใช้แผ่นทองคำเปลว 100 เปอร์เซ็นต์ปิดทับลงไปในส่วนที่ทายางมะเดื่อไว้ ใช้นิ้วกระทุ้งแผ่นทองให้ติดแน่นกับพื้น จากนั้นใช้พู่กันขนอ่อนปัดทองส่วนเกินออก จะได้สีทองตามลักษณะที่ต้องการ เหตุผลที่ต้องทาสีเหลืองรองพื้นก่อนปิดทอง เพื่อป้องกันกรณีที่การปิดทองเกิดรูเล็ก ๆ อันเกิดจากการทายางมะเดื่อไม่ทั่ว หรือเกิดจากแผ่นทองที่ไม่ได้คุณภาพ ภาษาช่างเรียกว่า “ตามด” พื้นสีเหลืองจะช่วยให้สีกลมกลืนใกล้เคียงกับสีทอง ช่วยกลบเกลื่อนข้อผิดพลาดได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นช่างจะใช้พู่กันเบอร์ศูนย์พิเศษที่มีลักษณะขนยาวกว่าพู่กันทั่วไป ที่มีคุณลักษณะในการอุ้มน้ำสีได้มากกว่าพู่กันธรรมดา แล้วตัดเส้นด้วยสีแดง หรือช่างโบราณ เรียกว่า “กระทบเส้น” เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ

isan-painting-wattungsrimuang3

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : การจัดทำหนังสือจิตรกรรมฝาผนังหอพระบาทวัดทุ่งศรีเมือง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2555