ทรัพยากรสารสนเทศ

สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์

  • กันเกราเน็ต

    การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดตั้งสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นหน่วยกลางในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้บริการจัดการระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัย “กันเกราเน็ต” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนระบบโทรศัพท์สายทองแดงเป็นสายใยแก้วเชื่อมโยงอาคารภายในเขตการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้นำวิธีการวางท่อร้อยสายใยแก้วในแท่งคอนกรีตใต้ดิน (Duct Bank) ซึ่งเป็นมาตรฐานการเดินโครงข่ายมาใช้ ลักษณะของการเดินสายใยแก้วในโครงข่ายหลัก จะเป็นการเชื่อมต่ออาคารหลักด้วยการร้อยสายใยแก้ว ชนิด Multimode ) ขนาด 8 core สอดเข้าในท่อ High – Density Polyethylene ฝังในคอนกรีตที่มีความหนา 50×50 ซม. โดยมีหลุมพักสายทุกระยะ 50 เมตร และทุกช่วงที่มีการหักเลี้ยวสำหรับในการเชื่อมอาคารย่อยเข้ากับอาคารหลักในบางช่วงที่มีระยะทางมายาวนัก จะเป็นการเดินลอยใต้หลังคาคลุมทางเดิน โดยให้อาคารสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นศูนย์กลางและประตูทางออกของเครือข่าย (Gateaway) ด้วย Topology แบบ Star เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความเร็วในการเชื่อมต่อ เมื่อเสร็จสิ้นระยะที่ 1  ความเร็วในการเชื่อมต่อระหว่างอาคารหลักกับอาคารสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่ายจะเป็น 100 Mbps ในปีงบประมาณ พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของโครงการ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ผ่านมาซึ่งเป็นระบบเครือข่ายที่มีจุดประสงค์ที่จะรองรับการสื่อสารสัญญาณภาพ เสียง และข้อมูลของระบบงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย สำหรับการเชื่อมต่อระบบ Internet ได้เป็นครั้งแรกในปี 2539 โดยการเช่าบริการของบริษัท เอเน็ตจำกัด และได้เปลี่ยนมาใช้บริการผ่านเครือข่าย “UNINET” ของทบวงมหาวิทยาลัย ในปี 2542 ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อจากทบวงมหาวิทยาลัย มายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วยความเร็ว 512 Kbps และแบ่งส่งต่อให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยความเร็ว 128 Kbps จากนั้นในปี 2543 จึงมีการขยาย Bandwidth เพิ่มขึ้นโดยความเร็วภายในประเทศเท่ากับ 512 Kbps และในปี 2544 ในช่วงปี 2544 มีการขยายเพิ่มขึ้น โดยความเร็วภายในประเทศเท่ากับ 1 Mbps และต่างประเทศเท่ากับ 512 Kbps

  • จากสถาบันภาษาและวัฒนธรรมสู่คณะศิลปศาสตร์

    จากสถาบันภาษาเป็นคณะศิลปศาสตร์ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2538 สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายขอบเขตภารกิจและเปลี่ยนชื่อสถาบันภาษาและวัฒนธรรม เป็น คณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี   ได้นำเสนอมตินี้ต่อคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการตามหนังสือที่ ทม.0204(2)/1715 ลงวันที่ 23 มกราคม พุทธศักราช 2539 ซึ่งอนุมัติให้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ (ปรับสถานภาพจากสถาบันภาษาและวัฒนธรรม) และบรรจุสาขาวิชาในระดับปริญญาตรี 4 สาขาวิชา คือ สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร สาขาการจัดการทั่วไป สาขาการจัดการตลาด และสาขาการท่องเที่ยว ในระดับปริญญาโท 2 สาขา คือ สาขาอินโดจีนศึกษา และสาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 6 หลักสูตร ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2542  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรปรับสถานภาพและเปลี่ยนชื่อสถาบันภาษาและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นคณะศิลปศาสตร์  เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสาขาวิชาศิลปศาสตร์และสาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการทางด้านศิลปศาสตร์ ประกอบกับสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสียใหม่เพื่อความสะดวกในการใช้กฎหมาย และโดยที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2533 กำหนดให้การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกบัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก และศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

  • อาคารศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น

    อาคารศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น เป็นอาคารสำหรับใช้ปฏิบัติงาน และให้บริการสารสนเทศต่าง ๆ  รวมทั้งข้อมูลท้องถิ่นในรูปแบบของห้องสมุดอัตโนมัติ โดยใช้เชื่อมต่อกับสำนักคอมพิวเตอร์ ให้มีศักยภาพในการสืบค้น เชื่อมโยงกับ Campus network และสามารถเรียกใช้ข้อมูลสารสนเทศได้จากหลาย ๆ ส่วนในตัวอาคาร ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก 3 ชั้น ตอกเสาเข็ม มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อรองรับน้ำหนักครุภัณฑ์ เครื่องมือ อุปกรณ์ สารสนเทศในรูปแบบหนังสือ สิ่งพิมพ์ มีระบบจ่ายน้ำ ระบบระบายน้ำ ระบบสุขาภิบาล ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า ระบบสัณญาณเตือนภัย ระบบโทรศัพท์และสื่อสาร มีการวางสายใยแก้ว เพื่อต่อเติมระบบคอมพิวเตอร์ภายในอาคาร ระบบสายล่อฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบระบายอากาศ ระบบป้องกันการโจรกรรมหนังสือ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบควบคุมทางเข้าออก (Decentiziser) การปรับแต่งพื้นที่รอบอาคาร ถนน ทางเข้าคอนกรีต พร้อมหลังคาคลุมทางเดินบางส่วน รวมทั้งครุภัณฑ์ประจำอาคาร รวมพื้นที่ทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 3,480 ตารางเมตร งบประมาณค่าก่อสร้าง – วงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างประมาณ 40,000,000 บาท (สี่สิบล้านบาทถ้วน)