ทรัพยากรสารสนเทศ
สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์
-
สาส์นจากนายกสภามหาวิทยาลัย : ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล
การจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อวางรากฐานการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการสนองความต้องการกำลังคนในระดับสูง มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาเป็นลำดับโดยการจัดตั้งคณะวิชาที่จำเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาประเทศ แม้จะมีอุปสรรคอย่างมากในด้านผู้สอนซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน และอุปสรรคด้านระบบการบริหารซึ่งใช้ระบบราชการ แต่ด้วยความเสียสละของอาจารย์ข้าราชการทุกคน และความร่วมมืออย่างดีจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสามารถผลิตบัณฑิตและจัดตั้งคณะใหม่ ๆ ขึ้นได้ แม้จะมีอายุเพียง 5 ปี แต่มหาวิทยาลัยก็ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดอุบลราชธานีและภูมิภาคนั้น และพร้อมที่จะเผชิญที่จะเผชิญกับภารกิจอย่างเต็มที่เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติต่อไป แหล่งข้อมูล : กองแผนงาน (2538). มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การดำเนินงานระหว่างปี 2533-2538.
-
สิ่งก่อสร้าง
สิ่งก่อสร้างในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน อาคารเรียนและสนับสนุนการเรียน และส่วนสุดท้ายได้แก่ ที่พักอาศัยและสวัสดิการต่างๆ เมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนใน 5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ อาคารเรียน 56.62 % ที่พักอาศัย 23.81 % และสาธารณูปโภคพื้นฐาน 19.88 % โดยยอดเงินค่าก่อสร้างรวมเป็นเงิน 942,882.88 ล้านบาท หากแจกแจงให้เห็นชัดเจนจะพบว่าเกือบ 40 % ของงบก่อสร้างเป็นการลงทุนสำหรับการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยฯ คือ เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเรียนปฏิบัติการเป็นหลัก ในด้านที่พักอาศัย เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย เป็นข้าราชการใหม่ซึ่งระบบค่าตอบแทนในปัจจุบันไม่สามารถเอื้ออำนวยให้จัดหาที่พักอาศัยเอง มหาวิทยาลัยจึงได้จัดสร้างอาคารชุดพักอาศัย 4 ชุด รวมจำนวนที่พักถึง 256 ห้อง สำหรับบุคลากร และหอพักนักศึกษา รวม 3 หลัง คิดเป็นจำนวนห้องถึง 240 ห้อง ซึ่งหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกแบบและจัดให้อยู่อาศัยตามหลักการขององค์กรอนามัยโลกได้ห้องละ 4 คน คิดขนาดความจุในปัจจุบันได้ 960 คน ในปีงบประมาณ 2538 นี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังได้รับจัดสรรงบประมาณอีก 52 ล้านบาท สำหรับจัดสร้างศูนย์กีฬาอเนกประสงค์ ซึ่งไม่เพียงแต่นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์กีฬาแห่งนี้ ประชาชนทั่วไปในจังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียงจะสามารถเข้ามาใช้บริการเช่นกัน ทั้งยังจะอำนวยประโยชน์ในการเป็นสถานที่ในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติได้อีกต่อไปด้วย สำหรับสิ่งก่อสร้างซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพทางวิชาการและบริหารซึ่งจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2539 นี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2538 เพื่อการออกแบบในวงเงิน 5,584,800 บาท และบริษัทผู้รับเหมาได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ อาคารวิศวกรรมศาสตร์ อาคารเกษตรศาสตร์ และอาคารสำนักคอมพิวเตอร์บริการ แหล่งอ้างอิง : กองแผนงาน (2538). มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี การดำเนินงานระหว่างปี 2533-2538
-
ความเป็นมาของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
แนวความคิดในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จวบจนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งมหาวิทยาลัยภายใต้แนวทางที่จะสร้างสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตตามความต้องการกำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อมุ่งเน้นในสาขาเกษตรกรรมและวิศวกรรมคล้ายกับการจัดตั้ง Agriculture and Mechanical Collage ในสหรัฐอเมริกา ดังนั้นในปี พ.ศ.2505-2509 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาค และแนวคิดเดียวกันนี้ จึงมีความพยายามจากบุคคลและสถาบันหลาย ๆ ฝ่ายผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งในปี พ.ศ.2528 ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอความเห็นถึงสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ในขั้นแรกควรจัดตั้งเป็นวิทยาลัยอุบลราชธานี ในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสามารถกระทำได้โดยงบประมาณแผ่นดินไม่สูงเกินไป ให้สามารถผลิตบัณฑิตในสาขาที่ขาดแคลนเพื่อสนองความต้องการกำลังคนของประเทศ ได้แก่ สาขาแพทย์ เกษตร พยาบาล และวิศวกร หลังจากที่ได้มีการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับ จวบจนได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้มีมติให้จัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใน พ.ศ.2529 และได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาในปี พ.ศ.2531 สำหรับในสาขาวิชาเกษตรนั้น เมื่อเริ่มต้นดำเนินการมีฐานะเป็นภาควิชาเกษตรศาสตร์ได้รับนักศึกษาในปีแรก จำนวน 38 คน ต่อมาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และภาควิชาเกษตรศาสตร์ได้ยกฐานะเป็นคณะเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ.2533 ประกอบด้วยภาควิชาพืชไร่ ภาควิชาพืชสวนและภาควิชาสัตวศาสตร์ โดยรับนักศึกษาทั้งสิ้นปีละ 80 คน และจะเพิ่มเป็น 120 คน ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) คณะเกษตรศาสตร์ดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตเกษตรระดับปริญญาตรีที่มีความรู้ความสามารถในเชิงเกษตรทั่วไปและมีความสามารถเฉพาะสาขา โดยเน้นทางด้านการวางแผนการผลิต กระบวนการผลิต และการเก็บรักษาผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนถึงวิธีการจัดการด้านการตลาดเพื่อการสนับสนุนการเกษตรของประเทศ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางการเกษตรเพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เหมาะสมมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในส่วนของการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมได้มีนโยบายในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การแสดงนิทรรศการ การจัดอบรมเผยแพร่เพื่อแนะนำ ส่งเสริม เพื่อให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตในรูปแบบต่าง ๆ ในปีการศึกษา 2541 มีนักศึกษารวมทั้งสิ้น 348 คน ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) คณะเกษตรศาสตร์มีแผนที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและตอบสนองต่อความต้องการกำลังคนของประเทศและเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการของเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร ในปี พ.ศ.2541 โดยจะเปิดรับนักศึกษาปีละ 20 คน และในปี พ.ศ.2543 จะเปิดสอนสาขาวิชาการประมง โดยรับนักศึกษาปีละ 40 คน รวมเป็นเปิดรับนักศึกาหลักสูตรปริญญาตรี 5 สาขา รวมทั้งสิ้น ปีละ 180 คน นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการผลิตมหาบัณฑิตในหลักสูตรสาขาการจัดการฟาร์มแบบผสมผสาน ภายในแผนพัฒนาการศึกษาฯ ดังกล่าวในโอกาสต่อไป…