ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จากบทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสพงศ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,(2546) กล่าวว่า “คุณลักษณะ ค่านิยม ความประพฤติปฏิบัติ ของคนคนหนึ่งจะเป็นเช่นใด ย่อมมาจากผลของพันธุกรรมและวัฒนธรรม ประเพณีค่านิยมและการอบรมบ่มเพาะจาก ครอบครัว สถานศึกษา หน่วยปฏิบัติงานของตนเองอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงนับเป็นความโชคดีของมหวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้สละเวลายาวนานเกือบสี่ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ.2541 ถึง พ.ศ.2545 รับคำขอร้องของสภามหาวิทยาลัยฯ เข้าแบกรับหน้าที่เป็นอธิการบดี ตลอดระยะเวลานั้น นอกจากจะได้นำพามหาวิทยาลัยฯ บรรลุภารกิจที่กำหนดไว้แล้ว ท่านยังสร้างวัฒนธรรมการประพฤติปฏิบัติให้แก่บุคลากรและนักศึกษา พวกเราได้ซึมซับสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำเพื่อนำพาตนและสังคมไปสู่ความเจริญมาปฏิบัติ ด้วยการเรียนรู้จากการประพฤติตนเป็นแบบอย่างของท่านอาจารย์ อันเป็นการสอนที่เหนือกว่าพร่ำบ่นด้วยถ้อยคำเพียงลำพัง
นอกจากด้านการบริหารงานแล้ว ท่านอาจารย์ ยังได้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนหั้วข้อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” วิชามนุษย์และสิ่งแวดล้อมอันเป็นวิชาบังคับพื้นฐานของมหาวิทยาลัยฯ มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 ทุกภาคการศึกษาติดต่อมาถึงปีการศึกษา 2544 นับเป็นการถ่ายทอดความรู้และแง่คิดต่าง ๆ แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ โดยตรง
“การสมาคมกับความดีเป็นความเจริญ
สมาคมกับสัตบุรุษ นำสุขมาให้
อยู่ร่วมกับปราชญ์
นำสุขมาให้เหมือนสมาคมกับญาติ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสพงศ์
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สำหรับข้าพเจ้าเอง นับตั้งแต่ได้พบท่านอาจารย์เป็นครั้งแรก ที่ท่านได้นำเสนอแผนระยะยาวของการอุดมศึกษาไทย ณ โรงแรมเอเชียพัทยา เมื่อประมาณ 14 ปีที่แล้ว ก็ได้รับคำแนะนำการจัดทำแผนฯของมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยฯ ได้สถาปนาขึ้นใน ปี พ.ศ.2533 ท่านได้รับการเสนอชื่อและเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ชุดแรก ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึง 12 ปี ตลอดระยะเวลานั้น ข้าพเจ้าได้ทำงานรับผิดชอบในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ ต่างกรรมต่างวาระมาตลอด รวมทั้งยังทำหน้าที่รองคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับความเมตตาจากอาจารย์ ให้คำชี้แนะ และให้ความช่วยเหลืออีกหลากหลายวิธี อีกทั้งยังได้รับของฝาก “หนังสือ” ที่คัดสรรแล้วจากท่านเป็นประจำ
ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นโอกาสดีของชีวิตที่ได้ทีโอกาส เรียนรู้การทำงานทั้งด้านบริหารและวิชาการ ความเป็นครู และการบริหารครอบครัว จากท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ ได้อย่างมากมาย นำมาใช้ได้อย่างครอบคลุมทุกแง่มุมของชีวิต เป็นการใช้ชีวิตตาม พุทธสุภาษิต ที่แจ้งไว้”
72 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ อิงคสุวรรณ. 2546. หน้า 110