รางวัลรัตโนบล พุทธศักราช 2536
นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์
นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ ได้ตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจในจังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดอุบลราชธานี มาถึง 8 สมัย และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2518 ถึง 2519 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึง 3 วาระ ระหว่างปีพุทธศักราช 2526 ถึง 2533
นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญ ในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาโดยตลอด ทั้งในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับราษฎรถึงประโยชน์อันพึงจะเกิดขึ้น หากมีการจัดตั้งสถาบบันการศึกษาระดับสูง และมีส่วนผลักดันโครงการจัดตั้ง ทั้งในสภาพที่เป็นวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ได้มีการดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา รับรองสภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อนึ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เปิดดำเนินการ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ มีส่วนสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นไปโดยราบรื่น ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานตะวานออกเป็นองค์ประกอบ คณะกรรมการจึงได้มีมติเสนอให้ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นประธานกรรมการฯ และเข้าร่วมเป็นกรรมการในสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วย
จากประวัติอันมีส่วนสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่องมาดดยตลอด สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมีมติให้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ “รัตโนบล” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณสืบไป
นายเลียบ ไชยกาล
นายเลียบ ไชยกาล เดิมรับราชการครู โดยเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2481 ณ โรงเรียนบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นในปี 2483 ได้อาสาสมัครไปสอน ณ นครจำปาสัก และได้เดินทางกลับมาสอนในประเทศไทย ในปี พุทธศักราช 2499 ในที่สุดได้ประจำ ณ โรงเรียนบ้านบัววัด ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จนเกษียณอายุราชการ นายเลียบ ไชยกาล ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณบ้านบัววัดมาเป็นเวลานาน จนกระทั่ง เมื่อปีพุทธศักราช 2531 โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เริ่มดำเนินการในบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน และพบว่าไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างถนนใหญ่ที่จะเข้าสู่บริเวณมหาวิทยาลัยตามแบบที่สถาปนิกได้กำหนดไว้ เพราะการกำหนดแนวเขตของมหาวิทยาลัยในระยะแรก ยังไม่ชัดเจน ระหว่างที่ดินซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะประโยชน์ และที่ดินของราษฎร ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชุมชน นายเลียบ ไชยกาล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าว จึงได้ตัดสินบริจาคที่ดิน จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 165 ตารางวา ให้แก่ทางราชการ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถดำเนินการก่อสร้างถนนและปักหลักเนสายไฟได้ตามแบบที่กำหนดไว้ เป็นการอำนวยประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทั้งในด้านประหยัดงบประมาณ และการใช้ที่ดินได้อย่างสวยงาม เหมาะสม
ด้วยตระหนักถึงความเสียสละดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมีมติเห็นสมควรให้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ “รัตโนบล” เพื่อให้ปรากฏเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนในท้องถิ่น และเป็นเกียรติประวัติ สืบไป
ข้อมูล
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(2536).พิธีเปิดมหาวิทยาลัยและพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1 แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ.2534-2535. หน้า17-18