รางวัลรัตโนบล พุทธศักราช 2557

บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมด้านการเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการด้านธุรกิจเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรที่เริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์ในเชิงพาณิชย์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนกระทั่งถึงการผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นบริษัทชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาทิเช่น รางวัลเพชรพาณิชย์ สาขาผู้ประกอบการ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์สูงสุด ให้แก่ประเทศชาติด้านการค้าและการพาณิชย์ จากกระทรวงพาณิชย์ รางวัลความสำเร็จ ด้านการผลิตอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน จากองค์กรพันธมิตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก

ผลงานอีกด้านหนี่งที่มีความโดดเด่นของ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  คือ การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งของบริษัทและของประเทศ โดยมีนโยบายการส่งบุคากรของบริษัทไปเพิ่มพูนคเวามรู้และประสบการณ์ในต่างประเทศ ในด้านการพัฒนาการศึกษา บริษัทได้มอบทุนการศึกษาให้แก่สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งนอกจากการมอบทุนการศึกษาประจำปี ตั้งแต่การศึกษา 2537 จนถึงปัจจุบันแล้ว ยังได้สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือนผลิตไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกรขุน สุกรพั้นธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 รวมถึงการปรับปรุงอาคารแปรรูปเนื้อสุกร การก่อสร้างโรงเรือนสุกรพร้อมบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา วิจัย และฝึกงานของนักศึกษารวมทั้งเกษตรกรทั่วไปได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้บริษัทยังได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยนำผลงานนวัตกรรมทางการเกษตรร่วมแสดงนิทรรศการและเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ในการจัดงานเกษตรอินโดจีน งานเกษตรแห่งชาติ และงานเกษตรอีสานใต้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากการทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้ว บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยสนับสนุนโครงการเสริมสร้างอาชีพในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรและโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมในจังหวัดต่างๆ ด้านสุขภาพและอนามัยผู้บริโภค โดยมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนของบริษัทจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีโครงการขยะแห้งแลกไข่สด และโครงการสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนและป่าบก ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การสนับสนุนกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตนักศึกษา ด้านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์และกีฬา บริษัทเป็นผู้สนับสนุนหลักในกีฬาชุมชนตามเทศกาลแต่ละท้องถิ่น

ด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรอุตสาหกรรมคงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาผลผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคและสร้างผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานการผลิตที่แตกต่างสำหรับลูกค้าทั่วโลก โดยมีการร่วมงานวิจัยกับสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีระบบประกันคุณภาพเพื่องสร้างระบบมาตรฐานคุณภาพตามหลักสากลและความปลอดภัยอาหารเพื่อชีวอนามัยละสิ่งแวดล้อม จนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยังมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องและได้บริจาคเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจแก่สถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สามารถดำเนินไปด้วยความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ

จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั้วประเทศ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นเป็นอเนกประการ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชานีในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงอนุมัติรางวัลรัตโนบล เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไป

เภสัชกรธีระ ฉกาจวโรดม

เภสัชกรธีระ  ฉกาจนโรดม  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต  จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทสาขาวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรการตลาดแบบบูรณาการ สำหรับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค  สถาบันบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ณ เบอร์กเล่ย์ (Haas School of Business) ประเทศสหรัฐอเมริกาและประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้นำ สถาบันอินซีเอ็ด (INSEAD) ประเทศสิงคโปร์

ท่านเริ่มปฏิบัติงานด้านการตลาดของบริษัทยา และเจริญก้าวหน้าจนได้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งนับได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ของบริษัทยาข้ามชาติ ส่งผลให้ท่านได้เป็นนายกสมคมผู้วิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นสมาคมของกลุ่มบริษัทยา ท่านมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเกณฑ์จริยธรรมในอุตสาหกรรมยา รวมถึงจรรยาบรรณของการขายและการตลาดเภสัชภัณฑ์  อันเป็นรากฐานสำคัญของการกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทยาต่อสังคม และเป็นแนวทางในการปฏิบัติในกรอบของจริยธรรมและจรรยาบรรณของเภสัชกรด้านการตลาด ทั้งยังเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรการตลาด และสร้างความชัดเจนของการตลาดยาเพื่อสังคมในประเทศไทย

เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม   เป็นผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการส่งเสริมบทบาทพัฒนาวิชาชีพ เภสัชกรอย่างต่อเนื่อง ท่านมีความเป็นผู้นำที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เสียสละ และเป็นพลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพเภสัชกรรม และด้วยประสบการณ์และความสำเร็จด้านการบริหารในภาคเอกชน ทำให้ท่านได้รับเลือกเป็นนายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นอุปนายกและกรรมการสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นองค์กรหลักของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาวิชาชีพ รวมถึงการตัดสินใจเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีขององค์กรทางเภสัชกรรมระดับดลก International Pharmaceutical Federation (FIP)

ด้านวิชาการและคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม มีบทบาทสำคัญต่อคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ท่านเป็นอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษของเภสัชศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาการตลาดยา ให้มีมาตรฐานและส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจในบทบาทหน้าที่จรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ท่านเป็นแบบอย่างที่สำคัญและเป็นผู้มีความเป็นครูเป็นอย่างสูง โดยได้ทุ่มเท เสียสละเวลา ในการให้คำชี้แนะ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีคุณค่า และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา อันเป็นบทบาทที่สำคัญในการสร้างบัณฑิตให้มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ท่านยังมีส่วนร่วมและเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านการพัฒนางานสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนเพื่อให้บริการกับประชาชนและ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์  จนได้รับการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพจากสภาเภสัชกรรม ตลอดทั้งการเป็นที่ปรึกษาหน่วยผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ท่านได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในด้านการผลิตและการกระจายผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้เข้าเยี่ยมชม ศึกษา ดูงาน ในบริษัทและโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานสากล และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทั้งด้านเภสัชอุตสาหการและการตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพสืบต่อไป เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม  มีส่วนร่วมสำคัญในกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะและมหาวิทยาลัยเสมอมา อาทิ การร่วมเป็นประธานในพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนของนักศึกษาเภสัชศาตร์ก่อนเข้าวิชาชีพ และการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ เป็นต้น

ด้านบทบาทต่อสังคม เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม   ได้เสียสละ อุทิศตัวในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบทุกข์ จนเป็นที่ยอมรับ โดยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินกิจการร่วมกับนานาชาติ ในการช่วยเหลือให้คำแนะนำปรึกษากลุ่มคนต่าง ๆ  ทั้งผู้ประสบภัยจากสึนามิ ผู้ได้รับความเครียดจากปัญหาชีวิต เป็นต้น

ผลงานของท่านที่สั่งสมมานี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม  มีคุณูปการต่อการศึกษาเภสัชศาสตร์ และวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงมีมติอนุมัติรางวัลรัตโนบล เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างอนุชนสืบไป

รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน

รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน เกิด ณ กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรเกียรตินิยม สาขาวิชาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเซสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2500 และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำ สังกัดภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักจากนั้นได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยรอคเซสเตอร์  สหรัฐอเมริกา  ในปี พ.ศ. 2513 และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2518 สาขาวิชาฟิสิกส์

ตลอดเวลารับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน มีผลงานเป็นที่ประจักษเป็นจำนวนมาก เป็นหนึ่งในคณาจารย์ผู้ริเริ่มแต่งตำราวิชาฟิสิกส์ระดับอุดมศึกษาเป็นภาษาไทย 2 เล่ม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เนื่องจากการมีบุคลิกภาพเรียบง่าย และเป็นที่รักใคร่ของลูกศิษย์ทุกระดับและเพื่อนอาจารย์ เมื่อนิสิตมีปัญหาทางวิชาการ มักจะได้คำแนะนำปรึกษาที่เป็นประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้เสมอ ดังนั้น อาจารย์จึงได้รับเชิญให้เป็นรองผู้อำนวยการ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดูแล แก้ปัญหาและพัฒนาศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์อละเทคโนโลยี

รองศาสตราจารย์ภิยโย  ปันยารชุน เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ท่านมีส่วนสำคัญในการสร้างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ ตั้งแต่รุ่นแรกและได้รับเชิญเข้าเป็น อาจารย์เกษียณอายุราชการผู้มีความสามารถพิเศษ ของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระหว่างปี พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2550 และได้เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในการสร้างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) สาขาวิชาฟิสิกส์ รุ่นแรกในปี พ.ศ.2546-2547 ให้คำแนะนำทางวิชาการด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและบริการชุมชนที่เป็นประโยชน์แก่อาจารย์ในภาควิชาฟิสิกส์ ตลอดจนอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ที่ต้องการคำแนะนำปรึกษาทางวิชาการและทางเทคนิค

รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน ได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบ สร้างเครื่องมือ ชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ประกอบไปด้วย ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ระดับกลาง ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ระดับสูง ห้องปฏิบัติการฟิล์มบาง ห้องปฏิบัติการเอ็นเอ็มอาร์ (Nuclear Magnetic Resonance) ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์สมัยใหม่ (Modern Physics) และห้องปฏิบัติการทางแสง (Optical Laboratory) และให้คำแนะนำในการกำหนดมาตรฐานครุภัณฑ์ ตามโครงการเงินกู้ของทบวงมหาวิทยาลัย (ในสมัยนั้น) เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย และได้วางรากฐานการวิจัยให้กับอาจารย์และนักศึกษาของภาควิชาฟิสิกส์ โดยได้ให้คำแนะนำปรึกษา แก้ปัญหาทางวิชาการและทางเทคนิคในการออกแบบและสร้างฟิล์มบาง ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของแข็งและปลูกผลึก ในภาควิชาฟิสิกส์ ทำให้ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  สามารถปลูกผลึกเดี่ยวของวัสดุเรืองแสง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ด้านการบริหารวิชาการ รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน ได้ให้คำแนะนำปรึกษา แก้ไขปัญหาทางวิชาการและทางเทคนิค และช่วยพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อช่วยให้คณาจารย์ของภาควิชาฟิสิกส์ สามารถสร้างอุปกรณ์การเรียน ครูที่เข้ารับการอบรม สามารถนำไปเป็นแบบในการสอน การสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์ได้ด้วยตนเองทำให้ได้รับคำกล่าวว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้วิชาฟิสิกส์ได้ง่ายและเข้าใจมากขึ้น ด้วยความสามารถในการแก้ไขปัญหาวิชาการ ทางเทคนิคและทักษะทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับความสามารถในการอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ของรองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน ทำให้นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ได้เรียนวิชาอิเล็กทรอนิกส์ การวัด และเครื่องมือวัด ปฏิบัติการฟิสิกส์ขั้นสูง การทำโครงการวิจัย ได้รับความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ ไปประกอบอาชีพและศึกษาต่อจนประสบความสำเร็จในอาชีพจำนวนมาก

ในด้านการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน เป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความเจริญของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ความมุ่งมั่น พากเพียร เพื่อช่วยเหลือของท่าน ทำให้อาจารย์ในภาควิชาประสบความสำเร็จ สามารถสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยได้ มีผลงานวิจัยที่มีชื่อ จวบจนถึงทุกวันนี้  นอกจากนี้ท่านได้บริจาคทรัพย์สินส่วนตัวจำนวยมาก เช่น หนังสือ ตำรา และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่อาจารย์มีอยู่ให้แก่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และท่านเป็นผู้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ประหยัด และพอเพียง ในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ท่านเลือกที่จะเดินทางรถไฟแทนเครื่องบิน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของคณะวิทยาศาสตร์

จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นที่ประจักษ์ว่า รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และได้อุทิศตน ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของอาจารย์ นักศึกษา และครูวิทยาศาสตร์ โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากหรือหวังผลตอบแทนใดๆ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงมีมติอนุมัติรางวัลรัตโนบลเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่อนุชนสืบไป

นายกว้าง รอบคอบ

นายกว้าง รอบคอบ เกิดที่จังหวัดมุกดาหาร  สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม เมื่อปี พ.ศ. 2498 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา (ป.กศ.) จากโรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2500 ต่อจากนั้นได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษา  จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ในปี พ.ศ. 2504 และประกาศนียบัตรบัณฑิต  ด้านการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. 2510 และได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  นอกจากนั้นยังผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และหลักสูตรประกาศนียบัตรนักบริหารระดับสูง (นบส.1) รุ่นที่ 9 ในปี พ.ศ. 2534

นายกว้าง รอบคอบ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการระดับ 10 อธิการบดีกรมสามัญศึกษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ท่านมีแนวคิดด้านการบริหารการศึกษาว่า “การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม สร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม นอกจากนั้นยังเป็นรากฐานและเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองมีความมั่นคงปลอดภัยในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนะรรม การเมืองการปกครองและการทหาร” ซึ่งท่านมีความตั้งใจที่จะบริหารการศึกษาให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น จากผลงานการพัฒนาระบบบริหารงบประมาณ ทำให้ท่านได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่น จากสำนักงานเลขิการคุรุสภา ในปี พ.ศ.2556

นายกว้าง รอบคอบ มีแนวคิดการบริหารการศึกษาที่ทันสมัย ตลอดชีวิตของการเป็นนักบริหารการศึกษาท่านไม่เคยหยุดนิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการแล้วท่านก็ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านท่านมีบทบาทสำคัญในการประสานของบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนมุกดาหารวิทยานุกูล จังหวัดมุกดาหาร งบประมาณการก่อสร้าง 25,900,000 บาท (ยี่สิบห้าล้านเก้าแสนบาทถ้วน) และเป็นผู้นำคนสำคัญในการระดมทรัพยากรจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 1,800,000 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาทถ้วน) นับเป็นคุณาปการต่อโรงเรียนและจังหวัดมุกดาหารเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการทำคุณาประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ใน ปี พ.ศ.2552 ท่านได้ร่วมกับชาวจังหวัดมุกดาหาร เพื่อวางแนวคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ท่านได้ให้แนวคิดด้านการบริหาร และการกำหนดทิศทางของวิทยาเขตมุกดาหารไว้  โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนราชการในจังหวัดมุกดาหาร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหน่วยงานในบังคับบัญชาทุกระดับ ท่านได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เพื่อผลักดันการสร้างมหาวิทยาลัยให้สำเร็จลุล่วงตามแผน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นประธานในการระดมทุนจากภาคธุรกิจ และประชาชนจังหวัดมุกดาหาร เพื่อก่อสร้าง “อาคารเรียนรวมใจ” ซึ่งเป็นอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวร และได้ประสานงานเพื่อจัดหาที่ดินในการก่อสร้างอาคารเรียน เพียงระยะเวลา 1 เดือน ก็ได้รับการบริจาคที่ดินจาก นายวศิน คำรัตน์ จำนวน 3 ไร่ ซึ่งมีบริเวณติดถนนทางเข้าสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียน 84 พรรษา มหาราชา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ณ ภูผาเจีย การก่อสร้างอาคารรวมใจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2557 ได้มีพิธีส่งมอบอาคารเรียนรวมใจแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธาน

ความสำเร็จในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมใจนั้น เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของส่วนราชการและประชาชนชาวมุกดาหารหลายภาคส่วน โดยมีนายกว้าง รอบคอบเป็นผู้ประสานงาน ด้วยเจตนาที่มุ่งมั่นและความวิริยะอุตสาหะของท่าน จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือมากมาย ทั้งการบริจาคเงินสด และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่าสิบล้านบาท ทั้งการบริจาคเงินสด นอกจากนี้ ในระหว่างการก่อสร้างท่านยังเอาใจใส่ เสียสละเวลาลงไปตรวจดูการก่อสร้างด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

จากผลงานที่ได้กล่าวมาเป็นที่ประจักษ์ว่า นายกว้าง รอบคอบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เพียบพร้อมได้ คุณธรรม จริยะรรม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และได้อุทิศตนให้กับการศึกษา โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากหรือหวังผลตอบแทนใด เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประเทศชาติเป็นอเนกประการ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงมีมติอนุมัติรางวัลรัตโนบล เพื่อประกาศเกียรติคุณให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนสืบไป

นายวศิน คำรัตน์

นายวศิน คำรัตน์ เกิดที่จังหวัดมุกดาหาร  สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุธีวิทยา  จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2515 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  ครุศาสตร์บัณฑิต  (ภูมิศาสตร์)  จากวิทยาลัยครูเทพสตรี  จังหวัดลพบุรี  เมื่อปีพ.ศ. 2521 เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 โรงเรียนพุแควิทยา จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2522

ตลอดระยะเวลาที่นายวศิน คำรัตน์ รับราชการนั้น ได้ทุ่มเทและอุทิศตนในการสอนเป็นเวลายาวนาน มีความเป็นครูผู้ให้ อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี รู้จักเสียสละ อดทน อดออม และมีน้ำใจ จนเป็นที่รักของลูกศิษย์ทุกคน ด้วยความเป็นครูผู้ให้ ปรารถนาให้ลูกศิษย์และคนทั่วไป ได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ท่านได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการก่อสร้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ตั้งแต่เริ่มต้น โดยเป็นบุคคลแรกที่เสนอบริจาคที่ดินส่วนตัวให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2552 และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2557

        การบริจาคที่ดินในครั้งแรกของนายวศิน คำรัตน์ นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ถนนเข้าออก ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร โดยในปี พ.ศ.2552 มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภูผาเจีย เพื่อก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา ณ พื้นที่บ้านด่านคำ จังหวัดมุกดาหาร แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้า ออกของมหาวิทยาลัย และที่ดินของนายวศิน คำรัตน์ มีบริเวณติดด้านหน้าของวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยจึงได้ส่งตัวแทนไปพบท่าน และบอกเล่าความจำเป็นที่จะต้องใช้ที่ดิน ท่านตอบตกลงในทันที และถามว่า “ที่ดินที่ให้พียงพอไหม หากไม่พอก็ขอให้บอก” โดยคำพูดที่เรียบง่าย จริงใจ ตรงไป ตรงมา และแววตาที่เต็มไปด้วยความเต็มใจและความมุ่งมั่นของท่าน สร้างความซาบซึ้งใจต่อวิทยาเขตมุกดาหารเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเสียสละและความมีน้ำใจเช่นนี้ นับว่าหาได้ยากในสังคมปัจจุบัน นอกจากนั้น ท่านยังได้เชิญชวน ประสานงาน พบปะพูดคุยกับบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งญาติพี่น้อง คือนายศร คำรัตน์ และนายบุญยัง คำรัตน์ ที่มีที่ดินอยู่บริเวณใกล้เคียงร่วมบริจาคที่ดินเพิ่มเติม ทำให้ได้พื้นที่ที่จะจัดสร้างเป็นถนนเข้าออก ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดรวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 22 ไร่ 2 งาน โดยเป็นพื้นที่การบริจาคของท่านและครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 16 ไร่

 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2557 โครงการก่อสร้างอาคารเรียน 84 พรรษา มหาราชา(ภูผาเจีย) เกิดความล่าช้าอันเนื่องจากปัญหาคู่สัญญาการก่อสร้าง คณะกรรมการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตจึงมีแนวคิดที่จะให้มีการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง นายกว้าง รอบคอบ ซึ่งเป็นกรรมการโครงการจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหารจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับพื้นที่เดิม (ภูผาเจีย) เพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร มีสถานที่จัดการเรียนการสอน และพื้นที่เพียงพอในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นของตนเองอย่างสะดวกสบายกว่าสถานที่เดิม คือ ณ โรงเรียนมุกดาลัย คระกรรมการฯ จึงมีมติให้จัดหาสถาที่และงบประมาณในการจัดสร้างตามความเหมาะสม โดยมี นายกว้าง รอบคอบ เป็นหัวหน้าคณะทำงานจัดหาทุน และสถานที่ก่อสร้าง นายกว้าง รอบคอบ จึงได้ขอรับบริจาคที่ดินเพิ่มเติมจากนายวศิน  คำรัตน์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวร คือ “อาคารเรียนรวมใจ” ซึ่งท่านมิได้ลังเล กลับมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะบริจาคที่ดินส่วนตัวให้แก่มหาวิทยาลัยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน

ในการบริจาคที่ดินทั้งสองครั้งนั้น นายวศิน คำรัตน์ ได้บริจาคที่ดินได้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นทางเข้า ออก และเป็นพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมใจ รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 19 ไร่ หากคิดมูลค่าที่ดินโดยไม่นับรวมค่าก่อสร้าง จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 228,000,000 บาท (ยี่สิบสองล้านแปดแสนบาทถ้วน) หากไม่มีการบริจาคที่ดินในการสร้างเส้นทางเข้าออกดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อวิทยาเขตมุกดาหารหลายประการ เช่น มหาวิทยาลัยอาจต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากในการซื้อที่ดินเพื่อสร้างทางเข้าออก นอกจากนั้นนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากร อาจต้องใช้เส้นทางสำรองด้านข้างวิทยาเขตมุกดาหารที่มีขนาดเล็ก เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่สะดวก และไม่ปลอดภัย

ความมีน้ำใจและความเสียสละของนายวศิน คำรัตน์ ในฐานะชาวจังหวัดมุกดาหาร การบริจาคที่ดินของท่านก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภูมิภาคอินโดจีน เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารมีเส้นทางเชื่อมโยงไปยังหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว เวียดนาม และจีน เป็นต้น ผู้ที่มีฐานะยากจนสามารถศึกษาในพื้นที่ ก่อให้เกิดการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชุมชน และส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นที่ประจักษ์ว่า นายวศิน  คำรัตน์ เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละทรัพย์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม อุทิศตนให้กับการเป็นครู โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากหรือหวังผลตอบแทนใด ได้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ  นับได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีและน่ายกย่องยิ่ง  สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27กันยายน 2557 จึงมีมติอนุมัติรางวัลรัตโนบล เพื่อประกาศเกียรติคุณเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

นายสุวิทย์ แก้วกิ่ง

นายสุวิทย์  แก้วกิ่ง สำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิต สาขา การบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้มีประสบการณ์ที่ยาวนานในวงการค้าปลีกสมัยใหม่ของประเทศไทย รวมระยะเวลาถึง 34 ปี โดยดำรงตำแหน่งที่สำคัญอื่น ๆ  จำนวนมาก เช่น นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจค้าปลีกทุนไทย อุปนายกสมาคมปัญยาภิวัฒน์ กรรมการสภาสถาบันปัญญาภิวัฒน์ กรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ผลงานที่โดดเด่นของนายสุวิทย์  แก้วกิ่ง คือ เป็นผู้ริเริ่มการเชื่อมโยงระบบการค้าปลีกให้เข้ากับระบบการศึกษา โดยจัดทำการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่า การเรียนรู้จากการทำงาน (Work Base Learning) ซึ่งเป็นการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ที่เรียนภาคทฤษฎีควบคู่ไปกับการฝึกภาคปฏิบัติงานจริง โดยจัดระบบการศึกษาให้มีการร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ หรือการศึกษาแบบสหกิจเต็มรูปแบบ คือ โดยนักศึกษาต้องฝึกภาคปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของระยะเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งรูปแบบการศึกษาดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในประเทศสหพันธรัฐเยอรมันนี มากกว่า 200 ปี และเป็นที่ยอมรับจากภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระบบนี้สามารถปฏิบีติงานได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าฝึกอบรมจากสถานประกอบการอีก อีกทั้งยังเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรกับสถาบันการศึกษา

นายสุวิทย์  แก้วกิ่ง เป็นผู้มีคุณาปการและบทบาทสำคัญต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ท่านเป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านการค้าปลีกสมัยใหม่แก่นักศึกษาคณะบริหารศาสตร์ และเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการการจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้จากการทำงาน (Work Base Learning)  ต่อคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ประสานงานและรับผิดชอบโครงการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการส่งเสริมพัฒนาการจัดการศึกษา เป็นผู้จัดหาสถานที่ฝึกงาน ที่พัก โดยยกเว้นค่าเช่าหอพักให้กับนักศึกษา และเป็นผู้ผลักดันให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาในหลักสูตรนี้ ทุนละ 19,500 บาท  ต่อคนต่อภาคการศึกษา หลังจากนั้นก็สามารถที่จะเลือกที่ทำงานอื่นได้อย่างอิสระ หรือเป็นเจ้าของกิจการเอง ผลจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีผลตอบรับที่ดี ทำให้ผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เนื้อหาสาระ การฝึกปฏิบัติจริง ฝึกฝนทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง เป็นผู้มีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการ มีความพร้อมในการทำงาน เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ นักศึกษายังมีรายได้จากการทำงาน โดยเฉพาะผู้มีฐานะยากจน ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ นับจากปีการศึกษา 2556 นี้ ได้มีการรับผู้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา การตลาด (การจัดการธุรกิจค้าปลีก) นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ ๓ ของประเทศที่ดำเนินโครงการดังกล่าว และมีผู้ให้ความสนใจเข้าศึกษา ในปีการศึกษาแรกได้รับผู้เข้าศึกษาจำนวน 84 คน และในปีการศึกษาต่อมได้มีจำนวนผู้สนใจเข้าศึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็น 104 คน ตามลำดับ

จากผลงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เป็นที่ประจักษ์ นายสุวิทย์  แก้วกิ่ง เป็นผู้เชื่อมโยงระบบการศึกษาไทย กับสถานประกอบการ และสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่ยากจนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีรายได้ที่มั่นคง และมีงานทำที่แน่นอน เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประเทศชาติเป็นอเนกประการนับได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีและน่ายกย่องยิ่ง สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงมีมติอนุมัติรางวัลรัตโนบลเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่อนุชนสืบไป

ข้อมูล

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(2556). พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2556. หน้า144-160