10 ปีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ปีพุทธศักราช 2530 ทบวงมหาวิทยาลัย ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเทคโนโลยีมารองรับการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในระยะยาว เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก ในปีการศึกษา 2531 ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ และในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ในระยะแรกทำการฝากเรียนไว้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มสร้างระบบสาธารณูประโภค อาคารเรียน อาคารฝึกงานต่าง ๆ ในพื้นที่ตั้งในปัจจุบัน และเตรียมยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยเน้นพื้นที่ความรับผิดชอบจัดการศึกษาให้แก่ประชากร 8 จังหวัด ในส่วนตะวันออกของภาค ได้แก่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ต่อมารัฐบาลได้มีมติยกฐานะวิทยาลัยอุบลราชธานีขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2533 มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีปรัชญาการศึกษาว่า “มหาวิทยาลัยมุ่งกระจายโอกาสทางการศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพประชากรทุกหมู่เหล่า เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตด้วยปัญญา เพื่อชี้นำทางเลือกที่ดีขึ้นแก่ชุมชนและประชาคม โดยเนินส่วนตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเป้าหมายหลัก” โดยมี รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ดำรงตำแหน่งเป็น อธิการบดี เป็นบุคคลคนแรกถึงสองวาระด้วยกัน ปัจจุบัน คือ ศ.ดร.ไพฑูรย์ อิงคะสุวรรณ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีออกเป็น 6 คณะ จำนวน 20 สาขาวิชา และหลักสูตรปริญญาโทอีก 1 หลักสูตร คณะเกษตรศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาพืชไร่ สาวิชาพืชสวน สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการอาหาร และสาชาวิชาประมง คณะวิทยาศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาจุลชีววิทยา สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะเภสัชศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์หลักสูตร 5 ปี คณะศิลปะศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาภาอังกฤษและการสื่อสาร สาขาวิชาการท่องเที่ยว ในปีการศึกษา 2543 นี้ ยังได้เริ่มรับหลักสูตรปริญญาโทในสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศขึ้นอีกด้วย คณะบริหารศาสตร์จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการจัดการทั่วไป สาขาวิชาการจัดการการตลาด และสาขาวิชาการจัดการธุรกิจบริการ
การรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาด้วยกัน 3 วิธี คือ วิธีการรับตรง คิดเป็นรอยละ 60 โดยรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาทั้งในและนอกเขตอำเภอเมือง เพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่อยู่ภายนอกด้วย และผ่านโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถทางด้านกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง การสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัยคิดเป็นร้อยละ 40 ของนักศึกษาที่รับเข้าศึกษา และการรับเข้าศึกษาในโครงการพิเศษใน 4 สาขาวิชา คือ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ การจัดการทั่วไป และการจัดการการตลาด นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ขยายโอกาสของการศึกษาไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้เตรียมการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศขึ้น ปัจจุบันมีนักศึกษาในโครงการแล้ว จำนวน 120 คน ในปีการปัจจุบันมีนักศึกษาทุกชั้นปีรวมกันทั้งสิ้น 3,385 คน มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมแล้วรวม 8 รุ่น เป็นจำนวน 998 คน และคาดว่าในรอบทศวรรษต่อไปจะมีบัณฑิตจบการศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อการบริหารวิชาการด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ โดยมีสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ใช้ชื่อว่า เครือข่ายกันเกราเน็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน การศึกษาค้นคว้า และการสื่อสาร คาดว่าระบบนี้จะแล้วเสร็จในปี 2543 นี้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรได้มีการพัฒนา เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ทั้งทางด้านวิชาการ และการปฏิบัติงานอยู่เสมอ ด้วยการส่งเริมให้ศึกษาต่อ อบรมดูงาน และเข้าร่วมประชุม สัมมนาทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นการสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน มหาวิทยาลัยยึดถือหลักการว่าคุณภาพของบัณฑิตเป็นหลักสำคัญยิ่ง โดยมีคณะทำงานที่รับผิดชอบในด้านการประกันคุณภาพทางด้านการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และในระดับคณะ รวมทั้งมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
ด้านการวิจัย นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อค้นหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และใช้ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รายได้ และความมั่นคงของชุมชน และประชาคมในท้องถิ่น อันจะส่งผลไปถึงในระดับประเทศ ในทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัยจำนวนรวม 26 โครงการผลงานวิจัยสามารถนำไปขยายผลสู่การปฏิบัติบ้างแล้ว และบางเรื่องปรากฏได้ผลเป็นอย่างดี
การบริการวิชาการแก่สังคม มหาวิทยาลัยได้ตั้งมาทำงานเพื่อสังคมและชุมชน มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ผลงานวิจัย การค้นคว้าไปสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและรายได้ในการประกอบอาชีพให้มั่นคงและยั่งยืน