กันเกรา : ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ต้นกันเกราเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่พบมากในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก “มันปลา” ภาคใต้ เรียก “ตำแสง” หรือ “ตำเสา”
ทำไม ? ต้องเป็นต้นกันเกรา จากบทสัมภาษ์ รองศาสตราจารย์ ดร. สมจิตต์ ยอดเศรณี วันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2543 ข้อความตอนหนึ่งว่า “…มาเดินสำรวจกัน ก็เดินไปผ่านร่องก่อที่เป็นสายน้ำเล็ก ๆ มีน้ำมากในหน้าฝน น้ำจะไหลเข้ามาสู่หนองอีเจม กำลังจะเดินผ่านลำธารสายน้ำเล็ก ๆ ก็ไปเจอต้นไม้ต้นหนึ่ง มันล้มขวางอยู่ เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๆ โตกว่าโคนขาคนนิดหนึ่ง แต่อายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี มันล้มขวางทอดอยู่อย่างนี้ แต่ว่ามันไม่ตายหรอก ผมก็ถามว่าต้นอะไรนี่ เขาก็บอกว่า มันปลา ผมก็บอกว่ามันแข็งแรงนะ มันอยู่ได้ จนป่านนี้ยังไม่ตาย มันแข็งแรงมาก เอานี่แหละเป็นสัญลักษณ์ เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย…”
ต้นกันเกรา หรือ “มันปลา” ชื่อสามัญ Anon, Tembusu ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ Fagraea เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นไม้ยืนต้น มีดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมขจรขจาย แม้ต้นกันเกราจะขึ้นอยู่บนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็สามารถยืนต้น เจริญเติบโตอย่างงดงาม เนื้อไม้กันเกราแข็งแรงและทนทานมาก ปลวกไม่สามารถทำลายได้ ทั้งยังมีน้ำมันในเนื้อไม้ ซึ่งช่วยรักษาเนื้อไม่ได้ดีและขัดเงาได้สวยงาม เปรียบได้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แม้เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่ละปีได้รับการจัดสรรงบประมาณของประเทศไม่มากนัก แต่ก็ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อย่างเต็มที่ นอกจากการออกดอกพรั่งพรูพร้อมกันทั้งต้นเปรียบได้กับความสามัคคี ความพรั่งพร้อม ความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรและนักศึกษาที่จะร่วมสร้างมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า