สัตบรรณ หรือ ตีนเป็ด
สภาพพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแต่เดิมเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและที่สาธารณะประโยชน์ ดังนั้น จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าที่ประกอบด้วยพรรณไม้นานาชนิด อย่างไรก็ตาม มีพรรณไม้หลายชนิดเป็นพรรณไม้ที่นำเข้ามาปลูก (Introduced plant) อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นพรรณไม้ดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย ฯ ได้แก่ ต้นตีนเป็ด (พญาสัตตบรรณ) ราชพฤกษ์ (คูณ) จามจุรี (ฉำฉา) คำแสด (คำเงาะ) กระบอก (รำเพย) ลั่นทม (จำปาลาว) ทองกวาว (จาน) เป็นต้น (แก้ว อุดมศิริชาคร, ถาวร สุภาพรม, 2551, น.4)
ทำไม ? ถึงมีต้นพญาสัตบรรณ หรือ สัตบรรณ หรือ ตีนเป็ด ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากการประชุมโครงการจัดตั้งหอประวัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม พุทธศักราช2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ กล่าวถึงต้นตีนเป็ด ความตอนหนึ่งว่า “เหตุผลของการปลูกต้นตีนเป็ด เพราะต้นตีนเป็ดเจริญเติบโตง่าย ส่วนต้นกันเกราเจริญเติบโตช้า จึงต้องปลูกต้นตีนเป็ดไว้ข้าง ๆ ต้นกันเกราเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับต้นกันเกรา “
พญาสัตบรรณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Latonia scholaris (L.) R.Br. ชื่ออื่น ตีนเป็ด จะบัน ปูแล ตีนเป็ดขาว เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ผลัดใบ ทรงพุ่มแผ่เป็นชั้น ๆ คล้ายร่ม เปลือกสีเทาปนดำ ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ มี 4-7 ใบ แผ่นใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร โคนใบสอบหรือเป็นรูปเล่ม ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมหรือมน เส้นแขนงใบตรงและขนานกัน มี 20-40 คู่ ก้านใบยาว 0.7-1.8 เซนติเมตร
ดอกออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบตามปลายกิ่ง สีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นฉุน กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ยาว 1-2 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.2 เซนติเมตร ผลเป็นฝักแห้ง ทรงกระบอก กว้าง 0.2-0.4 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดมีปุยและมีจำนวนมาก (วิโรจน์ เกษรบัว, 2552, น.8)
อ้างอิง
แก้ว อุดมศิริชาคร, ถาวร สุภาพรม. พรรณไม้ ม.อุบล เล่ม 1. อุบลราชธานี : ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2551.
วิโรจน์ เกสรบัว. รายงานผลการดำเนินงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : ภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.