หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทำไม ? แต่เดิม มหาวิทยาลัยฯ ไม่มีนโยบายในการสร้างหอพักให้กับนักศึกษา
จากบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พุทธศักราช 2536 โดย งานวิจัยสถาบัน กองแผนงาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยนี้ เดิมไม่มีนโยบายในการสร้างหอพักให้กับนักศึกษาเพื่อให้พักอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งหมด เราพยายามที่จะกระตุ้น หรือเชิญชวนเอกชนพยายามสร้างหอพัก เพื่อให้นักศึกษาได้พักอาศัย แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผลสำเร็จเพราะว่าประชาชนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยก็ดีหรือว่าประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ดี ไม่ได้มีหอพักให้นักศึกษาพอ หรือว่ามีคุณภาพที่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้นนักศึกษาจึงลำบากในการที่จะพักอาศัยเพื่อมาศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ มหาวิทยาลัยเลยจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบาย คือ ต้องจัดสร้างหอพักขึ้นในมหาวิทยาลัยเอง แต่ว่าเราจะสร้างเพียง 30% ของนักศึกษาที่เรารับ ส่วนอีก 70 % เราประสงค์จะให้ไปอยู่กับประชาชนรอบ ๆ หรือในตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็น เขตอำเภอวารินชำราบ หรือในเมืองอุบลราชธานี ที่เราตั้งใจอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า
“เราอยากให้นักศึกษาได้สัมผัสกับท้องถิ่นให้มาก แล้วมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ชาวเมืองก็รักใคร่เพราะว่าได้มีโอกาสสัมผัสกับคนของมหาวิทยาลัย ก็เกิดความเป็นเจ้าของของสถานศึกษาแห่งนี้เป็นที่สุด”
แล้วนอกจากนั้น เมื่อนักศึกษาไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ก็จำเป็นที่ต้องจ่ายเงินทองเพื่อเป็นค่าอยู่ค่ากิน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกจิปาถะ เพราะฉะนั้นการเงินมันก็จะไปหมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า แทนที่จะเอามาใช้แต่ในมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียว นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
มหาวิทยาลัยเองก็มีนโยบายที่จะให้นักศึกษาปี 1 ทั้งหมด ได้เข้าไปอยู่หอพักก่อน เมื่อมีที่เหลือจะให้นักศึกษาตั้งแต่ปี 2 ขึ้นไปสมัครเข้าอยู่ แล้วนักศึกษาจะเข้ามารับการทดสอบโดยวิธีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ที่ตั้งขึ้นเป็นกรรมการ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าอยู่หอพักนั้นมาด้วยการคัดเลือกไม่ใช่มาด้วยการสมัครใจอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็หวังว่า นักศึกษาที่จะเข้ามาอยู่ในหอพักนั้นจะเข้ามาอยู่แล้วก็เกิดการสร้างสรรค์ เพราะว่าต้องการให้หอพักเป็นสถานที่อยู่ ซึ่งนักศึกษาจะได้รับความสุขความสะดวกสบายพอสมควร และมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแก่การศึกษาเล่าเรียนและเมื่อเอานักศึกษาปี 1 เข้ามาอยู่ร่วมกันนั้น ในแต่ละห้องเราต้องการให้มีนักศึกษาหลาย ๆ คณะ อยู่ร่วมกัน ความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างนักศึกษาต่างคณะ เมื่อเข้ามาอยู่ใหม่ ๆ นั้น มันใกล้ชิดกันได้ง่าย เพราะการใกล้ชิดกันของนักศึกษาต่างสาขา มันก่อให้เกิดประโยชน์เพราะว่าการที่จะเป็นบัณฑิตต่อไปข้างหน้านั้น มันจะต้องร่วมมือกันสาหรับผู้ที่อยู่ในสาขาวิชาที่ต่าง ๆ กัน หลายสาขา และมันจะเกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงานร่วมกัน
“เราต้องการเห็นนักศึกษาที่อยู่ในคณะที่ต่าง ๆ กันเหล่านี้ ได้มีโอกาสใกล้ชิดกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ปัญหาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยก็คงลดน้อยไปได้บ้าง ส่วนนักศึกษาปีสูง ๆ เมื่อได้คัดเลือกให้เข้ามา เราเชื่อว่านักศึกษาเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มี ความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะร่วมกันทำงานให้เกิดประโยชน์ แก่มหาวิทยาลัยหรือส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยในที่สุด”