แรกตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แรกเริ่มเมื่อพุทธศักราช 2531 เปิดร่วมกับสถาบันภาษาและวัฒนธรรมใน ภาควิชาพื้นฐาน เพื่อให้บริการการสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ในนามภาควิชาพื้นฐาน วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาในปีพุทธศักราช 2533 วิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2533 ภาควิชาพื้นฐาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น คณะวิทยาศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2534 ตาม พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทบวงมหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2534 พร้อมกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แบ่งส่วนราชการตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2534 เป็นสํานักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาอีก 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ ชีวภาพ ภาควิชาเคมี ภาควิชาฟิสิกส์ และภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์
ภาระงานหลักในระยะแรก จากช่วงปีการศึกษา 2534-2535 ได้จัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ ให้แก่นักศึกษาคณะอื่น จนถึงปีการศึกษา 2536 ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตของคณะวิทยาศาสตร์ ในสาขาวิชาจุลชีววิทยา เป็นสาขาแรก ติดตามด้วยสาขาวิชาเคมี ในปีการศึกษา 2538 สาขาชาฟิสิกส์ ในปีการศึกษา 2539 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในปีการศึกษา 2540 ในปีการศึกษา 2541 ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเปิดสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (ปิดหลักสูตรเมื่อปี พ.ศ. 2545) รวมเป็น 5 หลักสูตร
ในปีการศึกษา 2559 มีหลักสูตรที่เปิดสอน รวมทั้งสิ้น 22 หลักสูตรแบ่งเป็น หลักสูตรปริญญาตรี 11 หลักสูตร หลักสูตรปริญญาโท 7 หลักสูตร และหลักสูตรปริญญาเอก 4 หลักสูตรนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มนักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในแถบจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีสะเกษ ยโสธร อํานาจเจริญ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และร้อยเอ็ด นับว่าคณะวิทยาศาสตร์ มีส่วนสนับสนุนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการดําเนินภารกิจด้านการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างสมบูรณ์ ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย