แหล่งการเรียนรู้แห่งปัญญา : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปลี่ยนมาจากงานห้องสมุดวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพร้อมกับวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวคือ เมื่อมีการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี ในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2530 (พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ราชกฤษจานุเบกษาเล่ม 104 ตอนที่ 183 วันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2530 ฉบับพิเศษหน้า 25-27)
ขณะนั้น งานห้องสมุดของวิทยาลัย สำนักงานเลขานุการ วิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะนั้นไม่มีสถานที่สำหรับจัดเป็นห้องสมุด ทางวิทยาลัย ฯ จึงฝากหนังสือให้ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินการ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2531 จึงสามารถเปิดบริการ ที่สำนักงานวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ตึกสถิติ ชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์ อาคาร 1 เปิดให้บริการแก่นักศึกษา สังกัดวิทยาลัยอุบลราชธานี 2 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
ปี พ.ศ. 2533 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2533 (ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่107 ตอนที่ 131 หน้า 60 – 88) จัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ห้องสมุดจึงได้ย้ายที่ทําการมาเปิดให้บริการ ณ พื้นที่จัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเริ่มแรกงานห้องสมุดสังกัดอยู่ในสํานักงานเลขานุการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2534 ห้องสมุด มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ย้ายที่ทำการมาเปิดให้บริการ ณ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ปัจจุบันคืออาคารปฏิบัติการคณะบริหารศาสตร์ ) และทบวงมหาวิทยาลัยได้ประกาศให้มีการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 (หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 207 หน้า 1149 – 1150 ) งานห้องสมุดจึงได้ยกฐานะเป็นสำนักวิทยบริการ มีการบริหารจัดการเทียบเท่าคณะโดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 ฝ่าย คือ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา ฝ่ายผลิตและบริการเอกสาร และฝ่ายหอสมุด
ปี พ.ศ. 2536 สํานักวิทยบริการได้ย้ายที่ทําการมายังอาคารหลังใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากจํานวนนักศึกษามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอาคารคับแคบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารโดยใช้ชื่อว่า อาคาร
สํานักวิทยบริการ (ปัจจุบันคืออาคารปฏิบัติการของคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์) รวมงบประมาณในการก่อสร้าง ทั้งสิ้น เป็นเงิน 9,200,000 บาท
ปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับอนุมัติงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารข้อมูลท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การลงทุน และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา บุคลากร ประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า อาคารข้อมูลท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาค ตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ และเป็นประตูที่จะก้าวไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีน อาคารข้อมูลท้องถิ่นจึงมีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้สอยและสนองตอบต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทางด้านการศึกษา และด้านวิชาการ งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นเป็นเงินจํานวน 40,000,000 บาท การก่อสร้างได้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2543
ปี พ.ศ. 2544 สํานักวิทยบริการได้ย้ายที่ทําการมายังอาคารข้อมูลท้องถิ่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2544 โดยมีสํานักงานเลขานุการ และฝ่ายหอสมุด ในขณะที่ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา ฝ่ายผลิตและบริการเอกสาร ยังคงทําการอยู่ที่อาคารสํานักวิทยบริการ
ปี พ.ศ 2547 สํานักวิทยบริการ ได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างอาคารบริการสารสนเทศ สมจิตต์ ยอดเศรณี ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ เพื่อรองรับและขยายการให้บริการห้องสมุดที่ทันสมัยแก่ผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอ งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นเงิน ทั้งสิ้น 56,746,355.- บาท (ห้าสิบหกล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นหกพันสามร้อยห้าสิบห้าบาทถ้วน) ในส่วนของฝ่ายผลิตและบริการเอกสาร ได้ชะลอการดำเนินการเนื่องจาก มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งเป็นโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีขึ้น ด้วยความเห็นชอบของสภาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 (ระเบียบวาระที่ 4.5) และครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2544 (ระเบียบวาระที่ 3.1)
ปี พ.ศ 2549 สํานักวิทยบริการ ได้ปรับปรุงการให้บริการภายในสํานักวิทยบริการ โดยได้เปิดทําการอยู่ 2 อาคาร คือ อาคารข้อมูลท้องถิ่น และอาคารสารสนเทศ สมจิตต์ ยอดเศรณี จนถึงปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2564 สำนักวิทยบริการ เป็นศูนย์กลางให้บริการทรัพยากรสารสนเทศและพื้นที่ทำงานร่วมกัน ผลิตสื่อการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถ่ายทอดความรู้วิชาชีพบรรณารักษ์และเทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับท้องถิ่นและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีภารกิจหลักด้านการบริการทรัพยากรสารสนเทศ ผลิตสื่อสนับสนุนการเรียน การสอน ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ดังนี้
1.บริการทรัพยากรสารสนเทศ
2.พื้นที่การค้นค้า และการเรียนรู้
3.บริการผลิตสื่อสนับสนุนการเรียนการสอน
4.ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาชีพบรรณารักษ์ และเทคโนโลยีทางการศึกษา
5.เผยแพร่ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้ และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง