• ผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย : นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์

    นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญ ในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาโดยตลอด ทั้งในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับราษฎรถึงประโยชน์อันพึงบังเกิดขึ้น หากได้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง และมีส่วนผลักดันโครงการจัดตั้ง ทั้งในสภาพที่เป็นวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ได้มีการดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา รับรองสภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อนึ่งเมื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้เปิดดำเนินการ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ มีส่วนสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปโดยราบรื่น ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากจังหวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานตะวันออกเป็นองค์ประกอบ คณะกรรมการจึงมีมติเสนอให้ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นประธานกรรมการฯ และเข้าร่วมเป็นกรรมการในสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แหล่งอ้างอิง : มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(2536). พิธีเปิดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1 แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ.2534-2535 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พุทธศักราช 2536 ณ อาคารเรียนรวม, หน้า 17

  • การดำเนินงานเพื่อปรับฐานะเป็นมหาวิทยาลัย

                   ในระหว่างที่ดำเนินการในรูปวิทยาลัยอุบลราชธานีอยู่นี้ คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งมรศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน ได้มีคำสั่งที่ 105/2531 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2531 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในส่วนภูมิภาคโดยมีปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติและอธิการมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ฯ และศรีนครินทร วิโรฒ รวมทั้งหัวหน้าโครงการซึ่งมี รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมเป็นอนุกรรมการคณะอนุกรรมการชุดนี้ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ และโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ทั้ง 5 แห่ง ก่อนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี  ทั้งในด้านสาขาวิชาที่ผลิตบัณฑิตระบบการบริหารในมหาวิทยาลัยและอื่น ๆ   ในส่วนของโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ยกฐานะวิทยาลัยอุบลราชธานี ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2531 จากนั้นร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมสามัญประจำปี 2532 ที่ผ่านมา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยประชุมสามัญปี 2533 ต่อไป

  • สารจากอธิการบดี : เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยครบรอบ 4 ปี 30 กรกฎาคม 2537

    มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพัฒนาการมาโดยลำดับ เริ่มจากการเป็นวิทยาลัยอุบลราชธานีสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ.2531 และต่อมาในปี พ.ศ.2533 ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถปฏิบัติภารกิจหลักสำคัญ 4 ประการ คือ การผลิตบัณฑิต การส่งเสริมงานวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ และดำเนินนโยบายการกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปสู่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในส่วนตะวันออกของภาค ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานตามภารกิจหลัก และปณิธานของสถาบันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้รับความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ และได้รับความร่วมมือจากบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนางานวิชาการให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยส่วนรวม การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่องนั้น ย่อมนำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่น และปรากฏเป็นชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยด้วย ความร่วมมือร่วมใจ และความกระตือรือร้นในการทำงานของบุคลากรทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัย นับว่ามีความสำคัญยิ่งที่จะนำพาให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จตามปรัชญา และปณิธานที่กำหนดไว้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ข้อมูล : กองแผนงาน, งานวิจัยสถาบัน.(2537). ประวัติการสร้างสานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เอกสารเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครบรอบ 4 ปี วันที่ 30 กรกฏาคม 2537, หน้า ก