• จากสถาบันภาษาและวัฒนธรรมสู่คณะศิลปศาสตร์

    จากสถาบันภาษาเป็นคณะศิลปศาสตร์ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2538 สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายขอบเขตภารกิจและเปลี่ยนชื่อสถาบันภาษาและวัฒนธรรม เป็น คณะศิลปศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี   ได้นำเสนอมตินี้ต่อคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการตามหนังสือที่ ทม.0204(2)/1715 ลงวันที่ 23 มกราคม พุทธศักราช 2539 ซึ่งอนุมัติให้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ (ปรับสถานภาพจากสถาบันภาษาและวัฒนธรรม) และบรรจุสาขาวิชาในระดับปริญญาตรี 4 สาขาวิชา คือ สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร สาขาการจัดการทั่วไป สาขาการจัดการตลาด และสาขาการท่องเที่ยว ในระดับปริญญาโท 2 สาขา คือ สาขาอินโดจีนศึกษา และสาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 6 หลักสูตร ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2542  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากสมควรปรับสถานภาพและเปลี่ยนชื่อสถาบันภาษาและวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นคณะศิลปศาสตร์  เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสาขาวิชาศิลปศาสตร์และสาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการทางด้านศิลปศาสตร์ ประกอบกับสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสียใหม่เพื่อความสะดวกในการใช้กฎหมาย และโดยที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2533 กำหนดให้การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกบัณฑิตวิทยาลัย คณะ วิทยาลัย สถาบัน สำนัก และศูนย์ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

  • ก้าวแรกของสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

    สถาบันภาษาและวัฒนธรรม เปิดสอนในสาขาวิชาศึกษาทั่วไปทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้กับนักศึกษาคณะต่าง ๆ โดยไม่ผลิตบัณฑิตในสาขาของตนเอง และมีหน้าที่ในการวิจัยการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม